insKru หนึ่งในสุดยอด Edtech Startup รุ่นแรก จากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านการศึกษาในงาน StormBreaker Venture Demo Day 2019 ครั้งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินหน้ายกระดับการศึกษาประเทศ ผนึกกำลังครูทั่วประเทศพลิกโฉมการเรียนการสอนไทย กระจายไอเดียการสอนสู่ครูทั่วประเทศ มุ่งเชื่อมโยงครูทั่วประเทศกว่า 500,000 คน
ล่าสุด จัดงาน insKru Hackathon แฮกกาธอนครูครั้งแรกของประเทศไทย ที่ครูและคนที่อยากช่วยการศึกษาได้มาจับทีมกัน ตั้งเป้าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้กับการศึกษาไทย จุดประกายไอเดียให้ครูนำกลับไปใช้ในโรงเรียน ก่อนนำกลับมานำเสนอโครงการกับนักลงทุนและผู้สนใจ 18 สิงหาคมนี้ เผยปัญหาทางการศึกษาจากคอมมูนิติ้ insKru พบ 6 มิติ ได้แก่ ปัญหาด้านพฤติกรรมเด็ก ปัญหาภาระนอกเหนือการสอน ปัญหาภาระงานสอน ปัญหาด้านวัสดุอุปกรณ์สื่อการสอน ปัญหาความสัมพันธ์ของคนในองค์กร และปัญหาอื่น ๆ เชื่อมั่นการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่าง ครู นักเรียน และคนที่อยากมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ เอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐ
นายกระทิง พูนผล ผู้ก่อตั้งกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก และ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ เปิดเผยว่าหลังจากได้เริ่มต้นโครงการ StormBreaker Venture ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านการศึกษา ที่เกิดจากความตั้งใจที่อยากจะปฏิวัติการศึกษาไทย โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการศึกษาในยุคดิจิทัล พร้อมจัดกิจกรรม StormBreaker Venture Demo Day 2019 Batch 1 ด้วยการนำ สุดยอด Edtech Startups 4 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือก เป็นการนำร่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุด insKru หนึ่งในสุดยอด Edtech Startup จากโครงการ ฯ ได้เดินหน้าผนึกกำลังจากคอมมูนิตี้ครูทั่วประเทศจัดงาน insKru Hackathon ซึ่งนับเป็นแฮกกาธอนครูครั้งแรกในประเทศไทย
“การจัดแฮกกาธอนของ insKru ในครั้งนี้ เป็นการจัดแฮกกาธอนครั้งแรกของวงการครูในบ้านเรา ที่มานั่งทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพจริงๆ นับเป็นหนึ่งในการกระตุ้น Edtech Ecosystem เพื่อยกระดับและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ทาง StormBreaker Venture ได้ช่วยสนับสนุนเงินรางวัลให้กับทีมที่มี Product น่าสนใจ รวมถึงทีมงานที่มาช่วยรันงาน และร่วมเป็นเมนทอร์ในงาน ซึ่งคาดว่าหลังจบโครงการ เราจะได้ Edtech ที่มีศักยภาพหลายทีม ที่สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้คุณครูได้ใช้งานจริงและสามารถกระจายสู่ห้องเรียนทั่วประเทศได้ในอนาคต นอกจากนี้ insKru ยังได้รับเงินทุนสนับสนุนการจัดงานจากมูลนิธิใจกระทิง รวมทั้งดีแทค ในโครงการ Safe Internet ที่เอื้อเฟื้อสถานที่จัดงาน และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ให้เงินทุนสนับสนุนสำหรับต่อยอด โดยคนมาช่วยทำงานทั้งหมดล้วนเป็นอาสาสมัครที่ตั้งใจและอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างแท้จริง มั่นใจว่า Edtech Startup ไทยจะสามารถสร้าง impact ให้กับครูไทย 10,000 คน และนักเรียน 1 ล้านคน ใน 5 ปี” นายกระทิง กล่าว
นางสาวชลิพา ดุลยากร ผู้ก่อตั้ง insKru Edtech Startup ที่ผนึกกำลังครูทั่วประเทศ พลิกโฉมการเรียนการสอนไทย กระจายไอเดียการสอนสู่ครูทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมต่อครูทั่วประเทศกว่า 500,000 คน กล่าวเกี่ยวกับ insKru Hackathon ว่า จากที่ได้คลุกคลีกับการศึกษา พบว่าครูไทยมีศักยภาพ มีใจในการคิด และอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาเพื่อนักเรียน แต่ยังขาดคนมาช่วยทำให้เกิดขึ้นจริง ในขณะที่คนที่อยากช่วยการศึกษาไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร หรือยังไม่พบข้อมูลเชิงลึก หรือ insight ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ประกอบกับ Hackathon ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มักจะเน้นที่การแข่งกันหา Business Model ทำให้ปิดความเป็นไปได้การคิดหรือพัฒนาของใหม่ ๆ ที่จะสร้างผลกระทบ หรือ Impact ได้ insKru จึงเกิดความคิดและจัด insKru Hackathon ขึ้น ด้วยความคาดหวังที่จะให้เกิดกิจกรรมที่ครูและคนที่อยากช่วยการศึกษา ได้มาช่วยกัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการศึกษาของประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ได้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่หาไม่ได้ในงาน Hackathon ทั่วไป เพราะนวัตกรรมหรือไอเดียใหม่ ๆ เกิดจากข้อมูลเชิงลึกจากครูผู้ที่ทำงานสอนในโรงเรียนจริง ๆ รวมถึงบรรยากาศในงานเป็นบรรยากาศที่ผู้มาร่วมงานมาช่วยกัน มากกว่ามาแข่งขันกัน
“insKru จัด insKru Hackathon 2 วันเต็มเมื่อวันที่ 27-28 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีครู นักเรียน ผู้ปกครอง และนักพัฒนานวัตกรรม หรือสตาร์ทอัพ จำนวนกว่า 90 คน มาร่วมงาน โดยเริ่มต้นจากการฟังปัญหาจากคุณครู ก่อนที่จะให้สตารท์อัพจับกลุ่มกับครู นักเรียน รวมทั้งผู้ปกครอง รวม 15 ทีม เพื่อร่วมกันสร้างไอเดีย นวัตกรรม หรือโครงการใหม่ ๆ ที่ตอบปัญหาที่สมาชิกในทีมต้องการร่วมกันแก้ไขหรือหาโซลูชั่น ซึ่งจากการรวมรวมข้อมูลปัญหาทางการศึกษาจากคอมมูนิตี้ insKru เราพบว่าปัญหามี 6 มิติ ได้แก่ ปัญหาด้านพฤติกรรมเด็ก ปัญหาภาระนอกเหนือการสอน ปัญหาภาระงานสอน ปัญหาด้านวัสดุอุปกรณ์สื่อการสอน ปัญหาความสัมพันธ์ของคนในองค์กร และปัญหาอื่น ๆ” นางสาวชลิพา อธิบาย
จากงาน insKru Hackathon เกิดไอเดียใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นการทำเทคโนโลยีมาเป็นโซลูชั่นเพื่อการศึกษา และการนำนวัตกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้กับงานการศึกษาที่ยังเกี่ยวข้องกับเอกสาร อาทิ แนวคิดในการสร้างแอพพลิเคชันที่นักเรียนสามารถเห็นคะแนนพฤติกรรมได้แบบเรียลไทม์, ไอเดียในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเก็บ Profile นักเรียนที่รวบรวมข้อมูลนักเรียนครอบคลุมด้าน Head Hand และ Heart รวมทั้งทำเป็น Dashboard ได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบรายบุคคล หรือแบบภาพรวมชั้นเรียน, เครื่องมือช่วยรวบรวมเอกสาร คัดแยกเอกสารการประเมินของครู เพื่อช่วยลดปัญหาด้านการทำเอกสารประเมินต่าง ๆ ของครู เป็นการช่วยลดปัญหาภาระนอกเหนือการสอน เป็นต้น ซึ่งในงานเป็นการการจุดประกายไอเดีย ทั้งนี้ ทั้ง 15 ทีม จะต้องนำไอเดียกลับไปใช้ที่โรงเรียน ก่อนนำกลับมาเสนอโครงการกับนักลงทุนและผู้ที่สนใจในวันที่ 18 สิงหาคมนี้