อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ลงทุนทั่วไปในการพาไปลงทุนหรือจัดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวไปตามพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลของสากลที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ด้านการกระจายการลงทุนผ่านผู้เชี่ยวชาญ และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดการยอมรับและการเติบโตที่กว้างขวางขึ้นของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย นอกจากนั้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมแสดงความคิดเห็น และอาจเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมความน่าเชื่อถือในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งบิทคอยน์ และสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นให้มากขึ้นได้อีกด้วย
เปิดประตูสู่การเติบโตและนวัตกรรมใหม่ของสินทรัพย์ดิจิทัล
นายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไบแนนซ์ ทีเอช บาย กัลฟ์ ไบแนนซ์ (BINANCE TH) เล็งเห็นว่ากฎเกณฑ์นี้จะเข้ามาช่วยพัฒนาภูมิทัศน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย พร้อมเสริมว่า “การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เปิดโอกาสให้กองทุนต่างๆ เข้ามาลงทุนมากขึ้น จะช่วยเปิดทางให้เกิดกลยุทธ์ทางการลงทุนที่หลากหลาย และทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการกระจายการลงทุนที่เหมาะสมของผู้ลงทุน แต่ยังอาจเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนทั่วไปเกิดความตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงความสำคัญและบทบาทของสินทรัพย์ดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้น”
ปัจจุบัน แนวโน้มทั่วโลกได้ชี้ให้เห็นถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของสถาบันการเงินหรือกองทุนระดับโลกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนทางตรงและการลงทุนผ่าน Crypto ETF เช่นในกรณีของ BlackRock และ Fidelity เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินและกองทุนของไทยเริ่มขยายพอร์ตการลงทุนและเพิ่มการเปิดรับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางและเป้าหมายในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลระดับภูมิภาค
การมีส่วนร่วมของกองทุน สู่การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการที่กระแสเงินทุนใหม่ของสถาบันและกองทุนต่างๆ ไหลเข้ามา คือ การเพิ่มสภาพคล่องและการทำให้มูลค่าของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเสถียรภาพมากขึ้น โดย นายนิรันดร์ กล่าวเสริมว่า “โดยทั่วไปแล้ว การมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆจำเป็นต้องมาพร้อมกับกรอบการดูแลที่ชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนได้รับการคุ้มครอง และยกระดับมาตรฐานของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมและรักษาเสถียรภาพของตลาดไปควบคู่กัน”
ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินและกองทุนในประเทศไทยเริ่มนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนมากขึ้นเช่นเดียวกับสถาบันการเงินและกองทุนขนาดใหญ่ทั่วโลก ย่อมไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนเท่านั้น แต่ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความเจริญก้าวหน้าของประเทศในด้านเทคโนโลยีทางการเงินอีกด้วย
โอกาสทองของนักลงทุนชาวไทย
นโยบายใหม่เหล่านี้ถือเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล ให้สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ใหม่ๆ เช่น Bitcoin ETFs ได้ง่ายขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่า บิทคอยน์ จะมีความผันผวนสูง แต่ก็ถือเป็นตัวแทนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากกองทุนมีการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้จะสามารถให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมตามความเสี่ยง และทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันความผันผวนจากตลาดการเงินแบบดั้งเดิมได้
“การเปิดโอกาสให้ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพบริหารสินทรัพย์เหล่านี้ จะช่วยให้นักลงทุนที่ยังขาดความเชี่ยวชาญหรือความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ยังคงได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของสินทรัพย์ประเภทนี้ได้” นายนิรันดร์ กล่าว
นอกจากนี้ โครงสร้างและการควบคุมที่ชัดเจนจากนโยบายเหล่านี้ ยังจะช่วยส่งเสริมให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
เส้นทางสู่การพัฒนากฎเกณฑ์ใหม่ เพื่ออนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
นอกเหนือจากข้อเสนอเชิงนโยบายในปัจจุบันแล้ว สำนักงาน ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎเกณฑ์ใหม่อื่นๆ สำหรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในด้านเพิ่มเติม โดย นายนิรันดร์ เชื่อว่า การมีกฎเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มความชัดเจนและเสถียรภาพให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมด้านนวัตกรรมอีกด้วย
“อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลต้องการกำหนดกฎเกณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการใหม่ๆ อาทิเช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน และเมื่อมีนโยบายที่สอดคล้องกันแล้ว เราคาดว่าการยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลจะพุ่งสูงขึ้นแบบทวีคูณยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมการเงินในอนาคต” นาย นิรันดร์ อธิบายเพิ่มเติม
การผสานพลังระหว่างการเงินแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล
หนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่ ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH) เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การผสมผสานเข้าด้วยกันระหว่างการลงทุนแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัล เห็นได้จากหนึ่งตัวอย่างสำคัญ คือ การแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงให้เป็นโทเคนดิจิทัล (Real World Assets Tokenization) โดยธนาคารและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงต่างๆ เช่น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้น ให้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้บนบล็อกเชน
“การแปลงสินทรัพย์นี้ จะเปิดโอกาสให้การซื้อขายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และขยายการเข้าถึงระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนโฉมตลาดการลงทุนดั้งเดิมและ เพิ่มโอกาสทางการลงทุนให้กว้างขวางมากขึ้น” นายนิรันดร์ กล่าว
เมื่อพูดถึงอนาคต นายนิรันดร์ คาดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลจะยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในภูมิทัศน์ทางการลงทุน โดยทำให้กระบวนการต่างๆ สะดวกมากขึ้น ลดค่าใช้จ่าย และขยายการเข้าถึงมากขึ้น ดังนั้น เมื่อเส้นแบ่งระหว่างการเงินแบบดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มจางลง เราจะเห็นระบบนิเวศที่มีความคล่องตัว และโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ทั้งสองภาคส่วนเกื้อหนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลระดับภูมิภาค
การกำกับดูแลอย่างจริงจังของรัฐบาลและสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยผ่านการสนับสนุนนโยบายของประเทศที่เน้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและนวัตกรรมการเงิน ดังนั้น การปรับปรุงหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปข้างหน้าในฐานะศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีระบบนิเวศที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนทุกคน
สำหรับ ไบแนนซ์ ทีเอช (BINANCE TH) การเปลี่ยนแปลงด้านกฎเกณฑ์เหล่านี้สอดคล้องกับพันธกิจในการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล เราสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศให้แข็งแกร่งและสอดคล้องตามกฎระเบียบ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มนักลงทุนรายย่อยและกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับดูแล โดย ไบแนนซ์ ทีเอช มุ่งมั่นที่จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอนาคตของการเงินดิจิทัลในประเทศไทย พร้อมร่วมวางรากฐานสำหรับการเติบโตในระยะยาว และการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม