Breaking News
Home / Tech Insight / NTT Ltd. รายงานภัยคุกคามข้อมูลทั่วโลกปี 2020 เผยการโจมตีรูปแบบใหม่ที่รวดเร็วกว่าเดิม

NTT Ltd. รายงานภัยคุกคามข้อมูลทั่วโลกปี 2020 เผยการโจมตีรูปแบบใหม่ที่รวดเร็วกว่าเดิม

บริษัท เอ็นทีที จำกัด (NTT Ltd.,) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก เผยรายงานภัยคุกคามข้อมูลทั่วโลกประจำปี 2020 (2020 Global Threat Intelligence Report (GTIR) โดยระบุว่าถึงแม้องค์กรต่าง ๆ จะพยายามป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ แต่เหล่าอาชญากรไซเบอร์ยังคงคิดค้นการโจมตีรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาได้รวดเร็วกว่าเดิมและทำการโจมตีได้แบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้ในรายงานได้เน้นถึงความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ของ ไวรัส COVID-19 ในขณะที่อาชญากรไซเบอร์มุ่งหาผลประโยชน์จากวิกฤตโลกครั้งนี้ โดยในรายงานให้ความสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยด้วยการออกแบบ (secure-by-design) และความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ (cyber-resilience)

จากรายงานระบุถึงข้อมูลการโจมตีมากกว่าครึ่งหนึ่ง (55%) ของการโจมตีทั้งหมดในปี 2019 เป็นการโจมตีแบบผสมทั้งบนเว็บแอพพลิเคชั่นและการโจมตีผ่านแอพพลิเคชั่นสำหรับงานเฉพาะด้าน  โดยเพิ่มขึ้นจาก 32% เมื่อปีที่ผ่านมา ในขณะที่ 20% ของการโจมตีมีเป้าหมายไปยังระบบบริหารจัดการเว็บไซต์สำเร็จรูป หรือ CMS (Content Management System) และมากกว่า 28% พุ่งเป้าหมายไปที่เทคโนโลยีที่รองรับการทำงานบนเว็บไซต์ และองค์กรที่ทำงานผ่านเว็บในช่วง COVID-19  เป็นจำนวนมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกเปิดเผยตัวตนผ่านระบบการทำงานและแอพพลิเคชั่นที่อาชญากรไซเบอร์นั้นได้เล็งเป้าหมายไว้อยู่แล้ว เช่น เว็บพอร์ทัลของลูกค้า, เว็บไซต์ค้าปลีก และเว็บแอพพลิเคชั่นต่างๆ 

Matt Gyde ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายรักษาความปลอดภัยของ NTT Ltd. กล่าวว่า จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนี้ได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของอาชญากรไซเบอร์ที่อาศัยช่องโหว่ในการโจมตี ซึ่งองค์กรต้องเตรียมพร้อมในการรับมือทุกรูปแบบ และเราได้เห็นถึงการโจมตีจากแรนซัมแวร์ (ransomware) ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มองค์กรที่ดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งเราคาดหวังว่าเหตุการณ์จะไม่แย่ลงไปกว่านี้ ในสถานการณ์เช่นนี้เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญและใส่ใจต่อความปลอดภัยในธุรกิจ โดยตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบของคุณมีความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ในขณะเดียวกันก็มีการรักษาความปลอดภัยด้วยการออกแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีมากที่สุด

ในปีทีผ่านมาเป้าหมายการโจมตีเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีและภาครัฐ ซึ่งถูกโจมตีมากที่สุดจากทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีมีสถิติการถูกโจมตีมากที่สุดเป็นครั้งแรก คิดเป็น 25% ของการถูกโจมตีทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปีที่ผ่านมา) และมากกว่าครึ่งของการโจมตีมุ่งเป้าหมายไปยังแอพพลิเคชั่นสำหรับงานเฉพาะด้าน (application-specific) 31% และการโจมตีแบบ DoS/DDoS อยู่ที่ 25% เช่นเดียวกับการการโจมตีผ่าน IoT ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาครัฐถูกโจมตีเป็นอันดับที่สอง โดยแรงกระตุ้นมาจากกิจกรรมทางการเมือง คิดเป็น 16% ของกิจกรรมที่ถูกคุกคาม และในภาคการเงินถูกโจมตีเป็นอันดับที่สาม คิดเป็น 15% ของกิจกรรมทั้งหมด อันดับที่สี่ได้แก่ภาคธุรกิจและบริการด้านวิชาชีพ 12% และภาคการศึกษาเป็นลำดับที่ห้าโดยถูกโจมตีอยู่ที่ 9%

Mark Thomas หัวหน้าศูนย์ข้อมูลภัยคุกคามระดับโลกของ NTT Ltd. ให้ความเห็นว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีมีปริมาณการถูกโจมตีโดยรวมเพิ่มขึ้น 70% โดยใช้ IoT เป็นอาวุธในการโจมตีทำให้เกิดการคุมคามเพิ่มขึ้น ในขณะที่เราจะเห็นถึงภัยคุกคามจาก botnet ผ่านรูปแบบการโจมตีขนาดใหญ่อย่าง Mirai และ IoTroop เป็นจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้การโจมตีในองค์กรภาครัฐจะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว รวมถึงสถิติการถูกสอดแนมข้อมูลและการโจมตีบนแอพพลิเคชั่นสำหรับงานเฉพาะด้านจะถูกคุกคามสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยอาชญากรไซเบอร์ได้ใช้ช่องโหว่จากการทำงานหรือการใช้บริการผ่านออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในการส่งต่อข้อมูลไปยังประชาชน

บทสรุปประเด็นสำคัญในรายงาน GTIR 2020:

·        เว็บไซต์ที่เป็นแหล่งข้อมูล “อย่างเป็นทางการ” เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 แต่โฮสท์ของเว็บไซต์เหล่านั้นกลับถูกคุกคามโดยการฝังตัวจาก exploit kits และ/หรือ malware อีกทั้งยังมีจำนวนมากขึ้นจนน่าตกใจ ในบางครั้งมีไซต์เกิดขึ้นใหม่ถึง 2,000 ไซต์ต่อวัน

·        ประเภทของการโจมตีที่พบบ่อยที่สุดคิดเป็น 88% ของการโจมตีทั้งหมด ได้แก่ แอพพลิเคชั่นสำหรับงานเฉพาะด้าน (Application-specific) 33%, เว็บแอพพลิเคชั่น 22%, การสอดแนมและหาเป้าหมาย  (reconnaissance) 14%, การโจมตีแบบDoS/DDoS 14% และการโจมตีบนเครือข่าย 5%

·        อาชญากรไซเบอร์คิดค้นการโจมตีรูปแบบใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์(AI) และ Machine Learningรวมถึงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ โดยมัลแวร์ที่ตรวจพบประมาณ 21% อยู่ในรูปแบบของเครื่องสแกนช่องโหว่เพื่อเจาะระบบฐานข้อมูลอัตโนมัติซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของอาชญากรไซเบอร์

·        ช่องโหว่แบบเดิมๆ ยังคงเป็นเป้าหมายหลัก โดยอาชญากรไซเบอร์ใช้รูปแบบเดิมในการโจมตีมาอย่างยาวนาน แต่องค์กรต่างๆ ยังไม่สามารถแก้ไขช่องโหว่นั้นเหล่านั้น เช่น Heartbleed เป็นบั๊คสำหรับการเข้ารหัสของ OpenSSL ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีมากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยมีการโจมตี 19% จากทั่วโลก และในช่วงสองปีที่ผ่านมาพบว่ามีช่องโหว่ใหม่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 258 รายการ โดยโจมตีผ่านทาง Apache frameworks และซอฟต์แวร์ ทำให้ Apache เป็นเป้าหมายที่สาม ซึ่งถูกโจมตีมากที่สุดในปี 2019 โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 15% ของการโจมตีทั้งหมดที่สำรวจพบ 

·        การโจมตีแบบ DoS/DDoS ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยคิดเป็นประมาณสามเท่าของการโจมมีแบบ DoS/DDoS ในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ (EMEA) โดยประเทศที่ติดใน 5 อันดับแรกของการถูกโจมตีอยู่เสมอ ได้แก่ สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 4 และญี่ปุ่นรั้งอันดับที่ 5

·        การโจมตีบนเว็บแอพพลิเคชั่น (Web-application) และแอพพลิเคชั่นสำหรับงานเฉพาะด้าน (application-specific) ในภาคพื้นเอเชีย พบว่าประเทศญี่ปุ่นถูกโจมตีจากทั้งสองประเภทนี้มากที่สุด และการโจมตีบน application-specific เป็นการโจมตีที่ถูกพบบ่อยมากที่สุดในสิงคโปร์และฮ่องกง

ทั้งนี้ ในรายงาน GTIR 2020 ยังได้เรียกร้องให้ปีที่ผ่านมาเป็น “ปีแห่งการบังคับใช้ – year of enforcement”  เนื่องจากจำนวนโครงการริเริ่มด้านการกำกับดูแลความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Governance, Risk and Compliance : GRC) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ระดับโลกที่ท้าทายยิ่งขึ้น ในขณะที่การกระทำหลายอย่างและกฎหมายหลายฉบับมีอิทธิพลต่อวิธีที่องค์กรต้องจัดการกับข้อมูลและความเป็นส่วนตัวรวมถึงกฎการป้องกันข้อมูลทั่วไป (General Data Protection Regulation : GDPR) ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานที่สูงขึ้น รวมถึงพระราชบัญญัติความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคแคลิฟอร์เนีย (The California Consumer Privacy Act : CCPA)  โดยในรายงานดังกล่าวยังคงให้คำแนะนำหลายประการเพื่อช่วยแนะนำแนวทางเกี่ยวกับความซับซ้อนในการปฏิบัติตามกฎ รวมถึงการระบุระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการสร้างขีดความสามารถในการต่อต้านภัยไซเบอร์และการนำโซลูชั่นมาใช้อย่างปลอดภัย โดยออกแบบให้เป็นเป้าหมายหลักขององค์กร

หากต้องการเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน GTIR ปี 2020 เพื่อให้องค์กรมีกรอบที่แข็งแกร่งในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ในอุตสาหกรรมและภูมิภาคต่างๆ รวมถึงอเมริกา เอเชียแปซิฟิก และ ในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ โปรดติดตามข้อมูลได้ที่ download the NTT Ltd. 2020 GTIR.

Check Also

TERA เปิดตัวการให้บริการ T.Cloud Gen3 ที่สุดแห่งบริการคลาวด์โดยคนไทย พร้อมเปิดให้บริการแล้ววันนี้

บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ “TERA” เปิดตัวการให้บริการ T.Cloud Generation ที่ 3 (T.Cloud Gen3) ที่สุดแห่งบริการคลาวด์แบบอัจฉริยะของคนไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่องค์กรภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ต่อยอดสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจอย่างแท้จริง