การ์ทเนอร์ เผยยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั่วโลกไตรมาสแรกปี 2563 ลดฮวบถึง 20.2% เป็นผลจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อุปสงค์สำหรับสมาร์ทโฟนหายไปอันเนื่องมาจากผู้บริโภคหยุดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น
แอนชูล กุปต้า นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์กล่าวว่า “การระบาดของไวรัสโคโรน่าทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกประสบกับภาวะตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผู้ผลิตชั้นนำส่วนใหญ่จากจีนรวมถึง Apple ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปิดโรงงานชั่วคราวในประเทศจีน และอีกตัวแปรสำคัญคือการลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคทั่วโลกเพื่อกักตัวเองอยู่ในสถานที่ปลอดภัย”
Samsung Huawei และ OPPO มียอดขายเติบโตต่ำสุดใน 5 แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชั้นนำของโลก แบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนชั้นนำทั้ง 5 รายต่างได้รับผลกระทบ และมียอดขายลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ยกเว้น Xiaomi (ดูตารางที่ 1) โดยอุปกรณ์มือถือแบรนด์ Redmi ทำยอดขายพุ่งกระฉูดในตลาดต่างประเทศ และการรุกหนักในช่องทางออนไลน์ทำให้ Xiaomi ประสบความสำเร็จ โกยยอดขายได้ดีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตรงข้ามกับ Samsung ที่ยอดขายวูบลง 22.7% แต่ยังคงครองความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกด้วยส่วนแบ่ง 18.5%
ตารางที่ 1. ยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกของแต่ละแบรนด์ช่วงไตรมาสแรก ปี 2563 (หน่วย: พันยูนิต)
*การปัดเศษเปอร์เซ็นต์ขึ้นอาจไม่แม่นยำ 100%
ที่มา: การ์ทเนอร์ (มิถุนายน 2563)
Samsung ได้เพิ่มสินค้าในคลังมากขึ้นเพื่อรองรับการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ๆ ที่ออกสู่ตลาด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ล็อคดาวน์ผนวกกับช่องทางการขายออนไลน์ที่ยังไม่แข็งแกร่งพอ ส่งผลให้ยอดขายสมาร์ทโฟนในกลุ่มเอ็นยูสเซอร์ต่ำกว่าช่องทางการขายปกติมาก นายกัปต้า กล่าวว่า “Samsung ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามสถานการณ์อาจจะแย่ลงไปอีก แต่ด้วยสถานะที่จำกัดของ Samsung ในประเทศจีนและที่ตั้งของโรงงานผลิตนอกประเทศจีนกลายเป็นการป้องกันไม่ให้ยอดขายดิ่งลงไปกว่านี้”
จากสมาร์ทโฟน 5 แบรนด์ชั้นนำระดับโลก Huawei มียอดขายไตรมาสแรกปีนี้ดิ่งลงต่ำสุด โดยยอดขายตกลงเหลือ 42.5 ล้านยูนิต คิดเป็น 27.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ยอดขายวูบ แต่ Huawei ยังคงครองอันดับ 2 ในตลาดสมาร์ทโฟน ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 14.2%
นายกัปต้ากล่าววา “ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายของ Huawei เนื่องจากแบรนด์ได้พัฒนา Huawei Mobile Service Ecosystem (HMS) มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังขาด Google แอปฯ ยอดนิยม และ Google Play Store อยู่ ดังนั้น จึงทำให้ผู้ซื้อสมาร์ทโฟนใหม่ ๆ ในตลาดต่างประเทศไม่สนใจ Huawei มากเท่าที่ควร”
ในขณะที่ Apple แม้จะไม่ต้องขึ้นอยู่กับประเทศจีนเหมือนอย่าง Huawei, Oppo หรือ Vivo แต่ก็ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดทั้งด้านความต้องการของตลาด และการปิดร้านค้าซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขาย iPhone ในไตรมาสแรกของปี 2563 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การระบาดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแบรนด์ Apple เหมือนผู้ผลิตรายอื่น ๆ มากนัก โดยในไตรมาสแรกปีนี้ Apple มียอดขาย iPhone ลดลง 8.2% หรือราว 41 ล้านยูนิต
แอนเน็ต ซิมแมร์มันน์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “Apple เปิดตัวได้อย่างร้อนแรงในช่วงต้นปีด้วยไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ และสร้างความสนใจไปทั่วโลก ถ้าไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 เราคงได้เห็นยอดขาย iPhone พุ่งทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกปีนี้ไปแล้ว แต่การหยุดชะงักของซัพพลายเชนและการใช้จ่ายที่ลดลงของผู้บริโภคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ทำให้แนวโน้มที่ดีนี้ชะงักงัน อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพในการให้บริการลูกค้าผ่านทางออนไลน์ และการผลิตสินค้าของ Apple ทำให้ยอดขายกลับมาสู่ระดับเกือบปกติเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการพลิกฟื้นโมเมนตัมให้กลับมาดีได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ”
สำหรับยอดขายสมาร์ทโฟนไตรมาสแรกปี 2563 ของ Oppo ตกลง 19.1% สาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการจัดส่งสินค้าแบบออฟไลน์ที่เป็นจุดแข็งนั้นได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคและธุรกิจส่วนใหญ่ต่างหันไปพึ่งพาช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์เมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ดังนั้นหาก Oppo ต้องการเพิ่มยอดขายและชิงส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมา สิ่งสำคัญสูงสุดที่ต้องทำคือต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการขายออนไลน์ของตนเอง”
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานของการ์ทเนอร์ในเรื่องนี้ได้ที่ “Market Share: PCs, Ultramobiles and Mobile Phones, All Countries, 1Q20 Update.”
เรียนรู้วิธีการนำพาองค์กรก้าวผ่านสถานการณ์โคโรน่าไวรัสได้ที่ Gartner coronavirus resource center ที่รวบรวมผลวิจัยและเว็บบินาร์ เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถนำไปใช้เพื่อเตรียมการ จัดการ และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วที่เกิดจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19