นายวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด และผู้จัดการโครงการ Samsung Innovation Campus กล่าวว่า “โครงการ Samsung Innovation Campus (SIC) เป็นโครงการเพื่อสังคมของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ด้านโค้ดดิ้งและพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่เด็กไทย
สำหรับการพัฒนาโครงการ Samsung Innovation Campus ในปีนี้ ให้อยู่ในรูปแบบของออนไลน์เพื่อรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีความท้าทายใน 3 ส่วนสำคัญด้วยกัน คือ 1) เนื้อหาของการเรียนโค้ดดิ้ง ควรจะต้องง่าย กระชับเหมาะกับการเรียนผ่านออนไลน์ 2) ประสบการณ์ในการเรียนรู้ เนื่องจากโค้ดดิ้งเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆคน วิธีการเรียนและเนื้อหาที่สนุก ครูผู้สอนที่สามารถเข้ากับเด็กๆ ได้ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ และ 3) ระบบสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมที่ใช้เรียนสด ส่งการบ้าน ติดตามสอบถามและปรึกษาเนื้อหา ซึ่งในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ที่ปรึกษาโครงการ
เราคำนึงถึง 3 ส่วนสำคัญนี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่า ถึงแม้หลักสูตรจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ เด็กๆ ไม่มีโอกาสได้พบเจออาจารย์และเพื่อนร่วมโครงการเหมือนในสถานการณ์ปกติ แต่ก็สามารถเติมเต็มความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กๆได้อย่างเต็มที่
“จากการดำเนินโครงการในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า การเรียนการสอนในโครงการเป็นไปตามเป้าหมายที่ซัมซุงวางไว้ โดยในระหว่างทางก็ได้มีการปรับในส่วนของเนื้อหา ประสบการณ์และระบบการจัดการไปด้วย นักเรียนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเรียนรู้ สามารถเขียนโค้ดตามโจทย์ที่อาจารย์กำหนด ทำให้เห็นพัฒนาการของเด็ก ที่เริ่มต้นจากการไม่มีความรู้พื้นฐานในด้านโค้ดดิ้งเลย แต่ปัจจุบันก็สามารถเขียนโค้ดภาษาต่างๆ ได้ ในส่วนของบรรยากาศระหว่างเรียนก็มีความสนุกสนาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นนักเรียนให้เกิดความสนใจ ตื่นตัวในการเรียน และกระตือรือร้นที่จะตอบคำถามของอาจารย์ผู้สอน นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ทำให้นักเรียนสามารถกลับมาทบทวนเนื้อหาที่ตัวเองไม่เข้าใจจากวิดีโอบันทึกการสอนได้”
อาจารย์ผู้สอนจากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลา 75 ชั่วโมง โครงการ Samsung Innovation Campus จะทำการสอนความรู้พื้นฐานด้านโค้ดดิ้งและการเขียนโปรแกรม ผ่านโปรแกรมสแครช (Scratch) ภาษาซี (C-Programming) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการเรียนโค้ดดิ้งหลายๆ ภาษา และภาษาไพธอน (Python) ผสมผสานไปกับเนื้อหาความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี โจทย์ที่นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติก็จะมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนทุกคนจะสามารถเขียนโค้ดภาษาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดความรู้ไปสู่การเขียนโปรแกรมในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต
ด.ญ.อชิรญาณ์ ศรีโนนโคตร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนดาราสมุทร จังหวัดชลบุรี เล่าถึงการอบรมในครั้งนี้ว่า “ส่วนตัวชอบเกี่ยวกับเรื่องโค้ดดิ้งอยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่เคยได้เรียนโค้ดดิ้งจริงๆ พอคุณแม่บอกว่ามีการอบรม Samsung Innovation Campus ก็สนใจเข้าร่วม โดยหวังว่าจะได้ทักษะการเขียนโปรแกรมกลับไป ตอนนี้เรียนสแครชจบแล้ว รู้สึกชอบมากเพราะเข้าใจง่าย ได้ฝึกทักษะการคิดเลขเล็กน้อย และเมื่อเขียนโค้ดบนหน้าเว็บเสร็จ ก็สามารถทำออกมาเป็นเกมให้น้องสาวเล่นได้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม ก่อนหน้านี้ไม่เคยเรียนออนไลน์หรือเขียนโค้ดมาก่อน พอได้ลองมาเรียนจริงๆ ครั้งแรกก็สนุกมาก เพราะเนื้อหาที่เรียนไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป อาจารย์ใจดีมาก อธิบายละเอียดและเข้าใจ เวลาเรียนอาจารย์จะให้สูตรมาลองทำกับแบบฝึกหัดด้วยตนเอง ถ้าไม่เข้าใจก็สามารถถามในห้องเรียนออนไลน์ได้เลย รู้สึกสนุกมากและอยากเรียนหลักสูตรแบบนี้อีก เพราะในอนาคตอยากเป็นนักเขียนโปรแกรมแบบคุณแม่”
ด.ช.กิตติศักดิ์ ซื่อดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนชลประทานวิทยา จากจังหวัดนนทบุรี เผยถึงประสบการณ์การเรียนในครั้งนี้ว่า “สนใจเรียนด้านโค้ดดิ้ง เพราะการอบรมครั้งนี้จะได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างการเรียนออนไลน์และการเขียนโปรแกรมที่ไม่เคยเรียนมาก่อน โดยส่วนตัวผมชอบเรียนภาษาซีเพราะมีความยากและท้าทาย ซึ่งในคอร์สนี้ถ้าไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามอาจารย์ระหว่างเรียนได้เลย ผมว่าการเรียนในโรงเรียนและออนไลน์แตกต่างกันมาก เพราะในห้องเรียนบางทีเพื่อนในห้องทำให้ไม่มีสมาธิ หรือเมื่อมีข้อสงสัยอยากถามอาจารย์แต่ก็กลัวอาจารย์ดุ จึงไม่กล้าถาม แต่การเรียนออนไลน์มีหลายคนในห้องแต่ไม่มีคนคุยกันระหว่างเรียน และไม่ต้องเจอหน้าอาจารย์ทำให้กล้าถามกี่คำถามก็ได้ ต่อให้เรียนช้าก็เรียนทันเพื่อนเพราะสามารถดูคลิปการสอนย้อนหลังได้ นอกจากนี้ยังได้เพื่อนใหม่จากคอร์สนี้ที่ช่วยกันทำแบบฝึกหัดของอาจารย์ และถึงแม้ว่าในอนาคตผมอยากเป็นสถาปนิก แต่การเรียนโค้ดดิ้งก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับอนาคต”
โครงการ Samsung Innovation Campus จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการนำร่องในปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ หลักสูตรออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 55 คน จาก 11 จังหวัด ซึ่งจะเข้าร่วมอบรม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 โดยซัมซุงมุ่งหวังว่า การอบรมดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนไทยได้ทำความคุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรม พร้อมช่วยให้นักเรียนได้ค้นพบความสนใจของตนเอง และช่วยจุดประกายให้สามารถนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาตนเองเป็นสุดยอดนวัตกรรุ่นเยาว์ในอนาคต