ธนาคารต่างๆ ประกอบด้วย: ธนาคารแห่งประเทศจีน, ธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน, ธนาคารแห่งการสื่อสาร, ธนาคารหมินเซิง, ธนาคารกวงฟา, ธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน, ธนาคารแห่งเจียงซู, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเซี่ยงไฮ้ผู่ตง, ไชน่าซิติกแบงก์ และธนาคารเจ้อชางจีน นอกจากนี้ยังมีธนาคารจีนอีกกว่า 17 แห่งที่ยืนยันการเข้าร่วมกับ SWIFT gpi และกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมพร้อมเพื่อเปิดให้บริการดังกล่าว
โดยธุรกรรมของธนาคารทั้งหมดนี้คิดเป็นราว 86% ของธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยธนาคารจีนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันธนาคารต่างชาติจำนวนหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ได้เข้าร่วมกับเครือข่าย SWIFT gpi เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ธนาคารจีน 27 แห่งได้ลงนามและยืนยันเจตนาในการเข้าร่วมกับ SWIFT gpi อันเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การเชื่อมต่อที่ราบรื่นต่อเนื่องกัน ผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และการที่ SWIFT และแพลตฟอร์ม gpi ได้รับความร่วมมือและการยอมรับในฐานะมาตรฐานสำคัญจากสถาบันและองค์กรต่างๆ ล้วนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อหนุนธุรกิจระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันยังได้กำหนดบรรทัดฐานใหม่แห่งการชำระเงินระหว่างประเทศทั่วโลกด้วย” Alain Raes ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SWIFT ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคกล่าว
SWIFT gpi มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (BRI – Belt and Road Initiative) ของจีน เพราะออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์แก่ลูกค้าของธนาคารตัวแทนทั้งด้านความเร็ว ความโปร่งใส และความชัดเจนของการชำระเงินระหว่างประเทศ บริการดังกล่าวช่วยให้ธนาคารจีนสามารถจัดการธุรกรรมได้เร็วขึ้น และยกระดับประสบการณ์ด้านการธนาคารโดยรวมด้วยการหักชำระบัญชีที่คาดการณ์เวลาได้ มีค่าธรรมเนียมธนาคารและอัตราแลกเปลี่ยนที่โปร่งใส และเห็นสถานะของธุรกรรมอย่างชัดเจน อันส่งผลให้มีวงรอบด้านอุปทานที่สั้นลงและสามารถจัดส่งสินค้าแก่ลูกค้าปลายทางได้เร็วขึ้น
โครงการ BRI ของจีนครอบคลุมกว่า 60 ประเทศและคิดเป็นหนึ่งในสามของการค้าทั่วโลก มาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่แตกต่างในจุดต่างๆ ทั่ว BRI นำมาซึ่งความท้าทายหลายประการ เช่น ขาดเฟรมเวิร์กด้านการสื่อสารที่เป็นหนึ่งเดียวและมีปัญหาด้านการตรวจสอบตามระเบียบข้อกำหนด ดังนั้นการสร้างความแข็งแกร่งด้านการเชื่อมต่อทางการเงินตามเส้นทางของโครงการ BRI จึงมีความสำคัญและเป็นหลักประกันความสำเร็จในการขับเคลื่อนทางการค้าและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย
“อุตสาหกรรมภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้โครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (BRI) สามารถบรรลุผลได้อย่างสูงสุด ทั้งในด้านการสร้างและดูแลโครงสร้างและกระบวนการอันมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการไหลของกระแสเงินทุน ไปจนถึงการดำเนินงานภายใต้มาตรฐานร่วม และการลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ดังนั้น SWIFT จึงมุ่งมั่นในการร่วมมือกับธนาคารจีนหลายแห่งเพื่อช่วยเสริมสร้างและวางแผนอนาคตแก่ธนาคารตัวแทนทั้งในจีนและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก” คุณ Raes กล่าว
นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2560 ปัจจุบัน gpi ครอบคลุมธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศบน SWIFT กว่า 25% โดยมีธนาคารมากกว่า 165 แห่ง ซึ่งมีส่วนแบ่งกว่า 80% ของธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศบน SWIFT อันรวมถึงธนาคารชั้นนำของโลก 49 แห่งจาก 50 แห่ง ได้ลงนามเข้าร่วมใช้บริการดังกล่าว ปัจจุบันมีการประมวลผลการชำระเงินผ่าน gpi ไปแล้วกว่า 50 ล้านรายการ และแต่ละวันมีธุรกรรมการชำระเงินหลายแสนรายการระหว่างประเทศต่างๆ กว่า 350 ประเทศ ครอบคลุมมากกว่า 100 สกุลเงิน ซึ่งรวมถึงช่องทางการชำระเงินหลักระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่ง gpi มีอัตราส่วนในการชำระเงินสูงกว่า 40% แล้ว
ที่มา : SWIFT