โซเชียลร่วมฉลองเทศกาล “Pride Month” สุดคึกคัก เหล่าศิลปินคนดัง นักการเมือง อินฟลูเอ็นเซอร์ รวมทั้งแบรนด์ดังต่างตบเท้าเข้าร่วมกิจกรรมในงาน “บางกอกไพรด์ 2023” (Bangkok Pride 2023) เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย จนเกิดเป็นกระแสธงสีรุ้งโบกสะบัดบนโลกโซเชียลในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด จึงรวบรวมข้อมูลบนโซเชียลมีเดียระหว่างวันที่ 1 – 5 มิถุนายน 2566 ผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) พบว่า ผู้คนในสังคมออนไลน์ หรือ ในโซเชียลมีเดีย มีการพูดถึง Pride Month และ งาน Bangkok Pride 2023 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่าง สมรสเท่าเทียม กันอย่างล้นหลาม
ดูได้จากอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดที่มีการพูดถึงในช่วง 1 – 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผ่านแฮชแท็ก #บางกอกไพรด์ #bangkokpride2023 #bangkokpride รวมถึง #pridemonth #pridemonth2023 และในประเด็น #สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องด้านการมอบสิทธิให้กับคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศในศักดิ์ศรีการเป็น “คู่สมรส” ตามกฎหมาย (ดูรายละเอียดตามรูป)
สำหรับช่องทางโซเชียลมีเดียที่ผู้คนมีการกล่าวถึง Pride Month มากที่สุดคือ Twitter โดยมีการกล่าวถึง 15,460 ครั้ง ทั้งยังมี Engagement ถล่มทลายกว่า 1,218,977 ครั้ง ซึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด มาจากบัญชี Twitter ชื่อ @wixxiws ของคุณมิกซ์-สหภาพ หนึ่งในนักแสดงดังจากซีรี่ส์วาย ที่เป็นกระบอกเสียงในความเท่าเทียมทางเพศ ได้ทวีตผ่าน Twitter ส่วนตัว โดยมีใจความว่า “Pride Month ที่ไม่ได้มีเพื่อเฉลิมฉลอง แต่มันคือเดือนที่ใช้ในการเรียกร้องสิทธิ์ให้กับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเพศสภาพเป็นแบบไหน ทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมด มันจึงเป็นเดือนที่สำคัญมาก ๆ ในการสร้างความตระหนักให้กับสังคมไทยเเละทั่วโลก จึงเป็นที่มาว่าทำไมคนถึงต้องการเรียกร้องสมรสเท่าเทียมนั้นเอง” ซึ่งทวีตนี้มีคนเห็นด้วยและได้รับ Engagement มากถึง 65,392 ครั้ง
แบรนด์ดังออกแคมเปญหนุนกระแสความหลากหลายทางเพศ
จากกระแส Pride Month ซึ่งเป็นช่วงแห่งการเฉลิมฉลองและรณรงค์สังคมให้ตระหนักถึงสิทธิทางเพศ แบรนด์สินค้าต่างๆ พากันร่วมกระแสจัดแคมเปญการตลาด และ ออกคอลเลกชันใหม่ ๆ ในธีมสีรุ้ง มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงการสนับสนุนในความหลากหลายทางเพศ
ส่อง Brands ดังกับกระแส Pride Month บนโซเชียล
· อาดิดาส กับคอลเลกชัน Adidas x RICH MNISI
แบรนด์รองเท้าสุดฮิตอย่าง Adidas ร่วมมือกับดีไซเนอร์ตัวแทนความหลากหลายทางเพศชื่อดัง RICH MNISI ออกแบบคอลเลกชันใหม่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month กับแคมเปญ PRIDE 2023: Let Love Be Your Legacy เพื่อย้ำและชี้ชัดว่าทางแบรนด์พร้อมส่งเสริมความเป็นพันธมิตร ความเท่าเทียมทางเพศและสนับสนุนกลุ่ม LGBTQIAN+ รวมถึงต้องการกระตุ้นให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ผ่านลายพิมพ์บนเสื้อผ้าและรองเท้าในคอลเลกชันนี้
· Kleenex x DisneyRainbow ร่วมฉลอง Pride month
แบรนด์กระดาษเช็ดหน้าอย่าง Kleenex ร่วมกับดิสนีย์ปล่อยคอลเลกชันสุดน่ารัก มิกกี้เม้าส์กับสีรุ้ง และแบรนด์ยังทำวิดีโอสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสร้างความตระหนักรู้เเก่สังคมถึงความเท่าเทียม มีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบไม่ว่าเพศไหนหรือใคร ก็มีความรู้สึกและเรื่องต่าง ๆ ที่เหมือนกัน อีกทั้งยังมีฉากที่เดินรณรงค์ในขบวนพาเหรดอีกด้วย
· LINE MAN Wongnai ผลักดันสวัสดิการพนักงานหนุนความเท่าเทียม
LINE MAN Wongnai ถือว่าเป็นองค์กรรุ่นใหม่ที่ร่วมขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ มองที่ศักยภาพของบุคคล โดยการสนับสนุนความหลากหลายและไม่แบ่งแยก ผ่านการมอบสวัสดิการเงินขวัญถุงสมรสเท่าเทียมให้แก่พนักงาน เช่น สิทธิ์วันลารับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง สิทธ์วันลาสำหรับผ่าตัดแปลงเพศ เเละเงินสนับสนุน 20,000 บาท สำหรับการแต่งงานเพศเดียวกันเทียบเท่าสวัสดิการของคู่แต่งงานชายหญิง เพื่อต้องการให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องปกติของสังคม
· Oreo Ally ร่วมสนับสนุน Pride Community
สำหรับขนมสุดฮิตที่หลายคนรู้จักกับ “โอรีโอ” ในปีนี้ทางแบรนด์ได้นำธง Ally ซึ่งเป็นธงพันธมิตรของชาว LGBTQIAN+ ที่มีการผสมผสานของสีรุ้งกับสีขาวดำมาปรากฏบนแพคเกจจิ้ง นอกจากนี้ยังได้จัดทำวิดีโอสั้นเชิญชวนผู้บริโภคร่วมแสดงจุดยืนความเป็น ALLY ร่วมกับโอรีโอ ในกิจกรรม Oreo Ally Radar ผ่านทาง OreoAllyRadar.com ส่งกำลังใจแสดงความเป็นครอบครัว พร้อมสนับสนุนและเคียงข้างชาว LGBTQIAN+ เสมอ ทั้งนี้ทางโอรีโอยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้สนับสนุนงาน Bangkok Pride 2023 และเข้าร่วมขบวนพาเหรดในครั้งนี้ด้วย
· Apple เฉลิมฉลอง Pride Month ด้วย Apple Watch
Apple เป็นอีกแบรนด์ที่ร่วมสนับสนุน Pride Month ในทุก ๆ ปี โดยการแสดงสัญลักษณ์ผ่านการออกแบบสายนาฬิกา Apple Watch รุ่น Pride Edition ซึ่งมาพร้อมกับหน้าปัดและ Wallpaper เพื่อต้องการสะท้อนถึงตัวตนที่แตกต่างกันในชุมชนชาว LGBTQIAN+ ทางแบรนด์จึงได้ออกแบบให้แต่ละสายมีลวดลายที่ไม่เหมือนกัน มีการนำสีรุ้งและสีอื่น 5 สี ได้แก่ สีดำ น้ำตาล อันหมายถึงชุมชมชาวผิวดำ ชาวละติน และผู้ที่เสียชีวิตหรือผู้ที่เป็นโรค HIV รวมทั้งสีชมพู ฟ้าอ่อนและขาว ที่แสดงถึงเพศตรงข้าม และ ผู้ที่เป็นนอนไบนารี (Non-Binary) ร่วมแต่งเติมลงบนสายสีขาว แสดงถึงความแข็งแกร่งและสวยงาม
· Bar B Q Plaza หนุน Pride Month แต่ไม่ใช้ธีมสีรุ้ง ย้ำให้ความหลากหลายเป็น “เรื่องปกติ”
Case Study ที่น่าสนใจของแบรนด์ Bar B Q Plaza ซึ่งออกมาโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ถึงการร่วมสนับสนุน Pride Month ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น โดยไม่นำสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความหลากหลายทางเพศมาใส่ในตัวสินค้า หรือ โลโก้ แต่ออกมาแสดงจุดยืนถึงการเคารพความหลากหลายทางเพศ ซึ่งควรเป็นเรื่องปกติที่ควรเกิดขึ้นได้ในทุกวัน ไม่เฉพาะเพียงแค่เดือนมิถุนายนเท่านั้น ซึ่งเป็นการแสดงออกของแบรนด์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเรียบง่าย แต่ใช้คำพูดที่เเสดงความเข้าใจถึงปัญหาและเป็นอีกเสียงในการช่วยรณรงค์ความหลากหลายทางเพศให้เป็นเรื่องปกติของสังคม
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เสียงโซเชียลจากแพลตฟอร์ม DXT360 ในช่วงวันที่ 1 – 5 มิถุนายน 2566 พบว่า กระแส Pride Month ได้รับการพูดถึงจากผู้คนในสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการจัดขบวนพาเหรดในงาน Bangkok Pride 2023 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQIAN+ ได้เข้าร่วมแสดงออกถึงตัวตนและศักยภาพ พร้อมเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง นักการเมือง ศิลปิน ดารา และ แบรนด์ชั้นนำมากมาย ก็ยิ่งเป็นการจุดกระแสความสนใจจากผู้คนในสังคมได้เพิ่มขึ้น
ในส่วนของแบรนด์สินค้า พบว่าในสังคมออนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ชื่นชอบและเห็นด้วยกับแคมเปญ ซึ่งผู้บริโภคกล่าวชมแบรนด์ที่มีความรู้ เข้าใจปัญหาด้านความหลากหลายทางเพศ เเละสื่อออกมาสู่สาธารณะให้เข้าใจได้ว่าความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องปกติ และผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่มองว่า บางแบรนด์เพียงทำแคมเปญตามกระแส ไม่ได้เข้าใจ ให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ หรือ เห็นคุณค่าที่แท้จริง หรือ เป็นเพียงการตลาดชั่วคราวที่เรียกว่า Rainbow Washing
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight ในประเด็น Pride Month รวบรวมมาจาก DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 1 – 5 มิ.ย. 2566