กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยเติบโตจากมาตรการรัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ชูเป้าขับเคลื่อน BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ปักธงปี 2570 ทุกสถานประกอบกิจการโรงงานต้องได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว แต่ประเทศไทยยังขาดแรงงานเหตุจากเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เร่งนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะระบบความปลอดภัย
ด้าน สสท. ชี้หลังโควิดภาคอุตสาหกรรมขาดแรงงานที่มีฝีมือ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และทักษะให้กับผู้ประกอบการเดินหน้า กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัย เตรียมจัดมหกรรมแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยอัจฉริยะและเทคโนโลยีเพื่อการบำรุงรักษาชั้นสูง SISTAM 2023 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการขยายโอกาสการลงทุนกำลังเติบโตขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตและอุตสาหกรรม โดยในช่วงปี 2565-2567 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโต แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมสูงอายุ ประชากรวัยแรงงานจึงมีจำนวนลดลง ดังนั้น ภาครัฐจึงมีนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัยและบำรุงรักษาด้วยนวัตกรรมที่นำไอทีมาใช้ จะสามารถทำให้ตรวจสอบและประเมินได้อย่างละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น หนุนโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและความสามารถทางการแข่งขันได้
“เป้าหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีเป้าหมายในปี 2570 ทุกสถานประกอบกิจการโรงงานจะต้องได้รับ GI และโรงงานร้อยละ 50 จะต้องได้รับ GI ระดับ 3 ขึ้นไป ซึ่งความปลอดภัยก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการขอรับการรับรอง GI ด้วยเช่นกัน”
ด้าน ดร.สุพจน์ ชินวีระพันธุ์ กรรมการและผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (สสท.) กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นนิติบุคคลกว่า 8,000 ราย ในจำนวนนี้กว่า 75% เป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการร่วมทุนจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโต สสท. จึงต้องสร้างองค์ความรู้พื้นฐานให้กับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้มีมาตรฐานทันต่อความเปลี่ยนแปลงในระดับสากล โดยส่งเสริมและสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมขาดกำลังคนและทรัพยากรการดำเนินงาน เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น แรงงานที่มีทักษะที่เคยอยู่ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้กลับมา 100% และวัสดุอุปกรณ์หรือระบบการทำงานบางอย่างที่เป็นที่ต้องการก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับกระบวนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
จากปัจจัยที่ส่งเสริมความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเฉพาะทางเพื่อเสริมกำลังการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมและ สสท. จึงได้เตรียมจัดงาน SISTAM 2023 – Smart Industrial Safety & Technology for Advanced Maintenance หรืองานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมความปลอดภัยอัจฉริยะ และเทคโนโลยีเพื่อการบำรุงรักษาชั้นสูง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีไฮไลท์การจัดแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยและการบำรุงรักษาในระบบอุตสาหกรรมจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั่วโลก พร้อมกิจกรรมสัมมนาและการอบรมที่หลากลายพร้อมตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เดินหน้ารวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต
ทั้งนี้ งาน SISTAM 2023 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สามารถติดตามการจัดงานงาน SISTAM 2023 ได้ที่ https://sistam-asia.com/