ในงานประชุมประจำปี Kaspersky Lab APAC Cyber Security Weekend ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แคสเปอร์สกี้ แลป ได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่จะเป็นผลมาจากบอลข่านไนเซชั่น (Balkanisation) ในโลกไซเบอร์ นั่นคือการแตกแยกของเวิลด์ไวด์เว็บ
งาน Kaspersky Lab APAC Cyber Security Weekend จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอประเด็นด้านความปลอดภัยไซเบอร์โดยนักวิจัยชั้นนำของบริษัทแก่สื่อมวลชนจาก 11 ประเทศจากทั่วภูมิภาค โดยในปีนี้จัดขึ้นในธีม “Balkanisation: Security Should Not Be in Isolation” ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของการโลกานิวัฒน์อินเทอร์เน็ต (de-globalisation of the internet) ควบคู่ไปกับภาพรวมภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในเอเชีย
นายสเตฟาน นิวไมเออร์ กรรมการผู้จัดการ แคสเปอร์สกี้ แลป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “เสียงก้องเตือนจากยูจีน แคสเปอร์สกี้ ซีอีโอของบริษัทนั้นทำให้เรารู้ว่า เมืองดิจิทัลระดับโลกที่ไร้พรมแดนในอุดมคตินั้นได้ใกล้ถึงจุดจบแล้ว หลายประเทศกำลังสร้างแนวป้องกันไซเบอร์ของตน อินเทอร์เน็ตที่ทุกคนเข้าถึงได้ฟรีในตอนแรกเริ่มนั้นปัจจุบันได้ถูกแบ่งและแยกตัวเป็นอิสระจากกัน ซึ่งอาจจะส่งผลดีกับบางประเทศในบางง่มุม แต่แน่นอนว่าอาชญากรไซเบอร์นั้นได้ประโยชน์เต็มๆ จากการมีอิสระในการปลดปล่อยภัยคุกคามทั่วโลก”
ภายในงานนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่านจากทีมวิเคราะห์และวิจัยระดับโลก หรือทีม GReAT (Global Research and Analysis Team) ได้ชี้ให้เห็นถึงการโจมตีออนไลน์ที่สำคัญๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคนี้
นายวิทาลี คัมลุก ผู้อำนวยการทีมวิเคราะห์และวิจัยระดับโลก แคสเปอร์สกี้ แลป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้มาไขความกระจ่างเรื่องอนาคตของอินเทอร์เน็ตโดยอิงจากประสบการณ์การทำงานด้านวิเคราะห์มัลแวร์มายาวนานกว่า 13 ปี รวมถึงประเด็นกฎหมายในปัจจุบันและกระแสนิยมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของความปลอดภัยไซเบอร์ทั่วโลก
นายวิทาลี กล่าวว่า “จำนวนมัลแวร์ที่เราตรวจจับได้ในแต่ละวันนั้นมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น และสามารถเข้าถึงเป้าหมายได้มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา อนาคตของอินเทอร์เน็ตมีความเปราะบางและการที่ประเทศต่างๆ ก็เร่งเสริมกำลังป้องกันตัวเอง จึงเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตบอลข่านไนเซชั่น อย่างไรก็ตามการแตกแยกนี้ไม่ใช่เกราะที่เราจะใช้ป้องกันตัวจากภัยคุกคามจากอินเทอร์เน็ตในอนาคตได้ โปรดระลึกไว้ว่า โลกที่แตกแยกนั้นสามารถถูกพิชิตได้โดยง่าย เราจำเป็นต้องรวมตัวกัน ร่วมมือกัน และเชื่อใจกันเพื่อขัดขวางอาชญากรไซเบอร์ที่กระทำการร้ายโดยไม่คำนึงถึงเส้นพรมแดนหรือภูมิศาสตร์การเมืองใดๆ”
นายยูจีน แคสเปอร์สกี้ แลป ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของแคสเปอร์สกี้ แลป ได้ระบุไว้ในบทความหนึ่งว่า บราซิลและเยอรมนีกำลังพิจารณาและอาจจะเริ่มดำเนินการตั้งหน่วยงานอิสระด้านอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างเน็ตเวิร์กคู่ขนานที่แยกตัวจากอินเทอร์เน็ต สำหรับใช้สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลความลับขั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังร่างนโยบายเพื่อให้บริษัทใหญ่ระดับโลกอย่างกูเกิ้ลและเฟซบุ๊กย้ายดาต้าเซ็นเตอร์ไปที่ประเทศนั้นๆ เพื่อป้องกันการสอดส่องและการรุกล้ำข้อมูลจากภายนอกประเทศ
นายยูจีนได้เน้นย้ำว่า บอลข่านไนเซชั่น (Balkanisation) และการปกป้องทางการค้า (Protectionism) ที่ประเทศต่างๆ กำลังดำเนินการอยู่นั้นจะไม่ก่อประโยชน์ให้ประเทศใดเลย นอกจากอาชญากรไซเบอร์เท่านั้น
สำหรับประเด็นเรื่องอนาคตของอินเทอร์เน็ตนี้ นายซองซู ปาร์ค นักวิจัยอาวุโส แคสเปอร์สกี้ แลป ซึ่งประจำอยู่ที่เกาหลี ได้เน้นความสนใจไปที่กลุ่มลาซารัส (Lazarus) กลุ่ม APT ชื่อก้องที่ใช้โค้ดภาษาเกาหลีในการสื่อสารทำงาน ลาซารัสได้ปล่อยปฏิบัติการโจมตีซัพพลายเชนปลอมเพื่อส่งมัลแวร์ไปยังดีไวซ์ในระบบวินโดวส์และ MacOS
นายซูกุรุ อิชิมารุ นักวิจัยด้านความปลอดภัย ทีมวิเคราะห์และวิจัยระดับโลก แคสเปอร์สกี้ แลป ได้นำเสนอวิธีการที่ใช้วิเคราะห์มัลแวร์แอนดรอยด์และเปิดเผยกิจกรรมล่าสุดของโมบายมัลแวร์ชื่อโรมมิ่ง แมนทิส (Roaming Mantis) ซึ่งผู้โจมตีมีแรงจูงใจเป็นเม็ดเงินจากการแพร่กระจายมัลแวร์ไปยังสมาร์ทโฟนทั่วเกาหลีใต้ บังคลาเทศ และญี่ปุ่นผ่านการไฮแจ็ค DNS ในช่วงต้นปีนี้
นอกจากนี้ นายแอนทอน ชินกาเรฟ รองประธานฝ่ายกิจการสาธารณะและหัวหน้าสำนักงานซีอีโอของแคสเปอร์สกี้ แลป ได้เน้นย้ำถึงความซื่อตรงและเชื่อถือได้ในแวดวงความปลอดภัยไซเบอร์ และนำเสนอแนวคิดด้านความโปร่งใสระดับโลก หรือ Global Transparency Initiative ของบริษัท