Breaking News
Home / Politics / DGA เปิดผลงาน รัฐบาลดิจิทัล ประหยัด คุ้มค่ามูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8 พันล้านบาทชูกลยุทธ์ เข้าถึงบริการภาครัฐ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ตรวจสอบได้  ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล

DGA เปิดผลงาน รัฐบาลดิจิทัล ประหยัด คุ้มค่ามูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 8 พันล้านบาทชูกลยุทธ์ เข้าถึงบริการภาครัฐ ง่าย สะดวก รวดเร็ว ตรวจสอบได้  ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล

DGA อัพเดทความก้าวหน้ารัฐบาลดิจิทัลของไทย มุ่งเป้ายกระดับงานบริการ ทั่วประเทศให้เป็นดิจิทัล พร้อมขยายบริการรัฐบนแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ให้ครอบคลุมประชาชนทุกช่วงวัย สามารถรับบริการภาครัฐได้ แฮบปี้ คนไทยตื่นตัวการใช้บริการรัฐผ่านแอปพลิเคชัน และใช้บริการดิจิทัลภาครัฐกว่า 4 ร้อยล้านครั้ง  

ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ กว่า  8 พันล้านบาท พร้อมชูกลยุทธ์ เข้าถึงการบริการภาครัฐ ง่ายขึ้น รวดเร็ว โปร่งใส เดินหน้าภารกิจรัฐบาลดิจิทัล ทำหน้าที่ Smart Connector เชื่อมต่อภาครัฐทุกภาคส่วนกับประชาชน ผลักดันโครงการบริการประชาชน ยกระดับรัฐบาลดิจิทัล นำประเทศสู่ Smart Nation Smart Life เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทยที่ดีขึ้น

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA เปิดเผยความคืบหน้าภารกิจหลักของ DGA ในช่วงปี 2566 กับผลงานการดำเนินงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในระดับ Government to Citizens (G2C) Government to Business (G2B) และ Government to Government (G2G) เพื่อให้ครบคลุมและตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละกลุ่ม

ในระดับ Government to Citizens (G2C) หรือ ระหว่างรัฐกับประชาชน DGA ได้เชื่อมโยงบริการภาครัฐกว่า 112 บริการ เพื่อให้บริการประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งเสมือน SUPER APP ของภาครัฐที่รวมการให้บริการจากทุกหน่วยงานรัฐที่ช่วยแก้ปัญหาประชาชน ปัจจุบันมีบริการแล้วกว่า 112 บริการ ยอดการใช้งานสะสมกว่า 7.5 ล้านครั้ง และมียอดดาวน์โหลดถึง 607,041 ครั้ง เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรับบริการรัฐได้ผ่านช่องทางเดียว ง่าย จบ ครบทุกช่วงวัย ลดความยุ่งยากในการใช้บริการกับหน่วยงานรัฐแบบเดิม โดยมีเป้าหมายว่าในปี 67 จะเพิ่มบริการที่สำคัญ เช่น เช็คสอบภาษีที่ดินส่วนบุคคล ข้อมูลประกัน Life / Non-Life ส่วนบุคคล และบริการชำระดอกเบี้ย (รับจำนำ)

นอกจากนี้ยังยกระดับ “ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th)” ให้มีชุดข้อมูลเปิดที่มีคุณภาพและตรงต่อความต้องการของประชาชน และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อต่อยอดเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต ปัจจุบันมีชุดข้อมูลเปิด 10,226 ชุดข้อมูล และมีผู้ใช้บริการ 3,871,796 คน และคาดว่าในปี 67 จะเพิ่มให้เกิดการแลกเปลี่ยนใช้ประโยชน์ข้อมูลระหว่าง รัฐ-เอกชน-นานาชาติ นอกจากนั้น ยังมีโครงการ Digital Transcript หรือทรานสคริปต์ในรูปแบบดิจิทัล เพิ่มความสะดวกให้กับนักศึกษาช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงลดงบประมาณของมหาวิทยาลัยในการออกเอกสาร มีจำนวนการผลิตแล้วกว่า 1 ล้านใบ ใน 82 มหาวิทยาลัยที่ให้บริการทั่วประเทศ

ในด้านของความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม DGA ได้สร้าง “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) ที่ช่วยสนับสนุนให้ทางภาครัฐสามารถเปิดรับความคิดเห็นจากภาคประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินงานการจัดทำร่างกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพื่อให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น มีกฎหมายที่เปิดรับฟังความเห็นแล้ว 1,091 ฉบับ และมีปริมาณความเห็น 191,683 ครั้ง นอกจากนั้นยังพัฒนา ภาษีไปไหน ซึ่งเป็นระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ผ่าน govspending.data.go.th เป็นการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่นำเสนอเป็นภาพรวมสถิติในรูปแบบ Dashboard การจัดอันดับ Ranking ข้อมูล และการแสดงข้อมูลในแผนที่ประเทศไทยรูปแบบง่ายๆ พร้อมมีช่องทางให้ประชาชนร่วมเป็นพลังสำคัญในการติดตามตรวจสอบและต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งมีโครงการที่เปิดเผยแล้ว 16,187,604 โครงการ

ในภาคของGovernment to Business (G2B)  หรือ ระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจ ได้ให้บริการ Biz Portal ผ่าน bizportal.go.th เพื่ออำนวยความสะดวกกับ SME ให้สามารถติดต่อยื่นคำขอใบอนุญาตจากภาครัฐได้กว่า 124 บริการ /ใบอนุญาต โดยมีผู้ประกอบการที่ใช้งานแล้ว 15,881 ราย ซึ่งช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องง่ายขึ้น เว็บเดียวจบครบเครื่องธุรกิจ นอกจากนั้นยังจัดตั้ง ศูนย์รวมผู้ประกอบการดิจิทัลเพื่อหน่วยงานภาครัฐ (Me-D e-Marketplace) ที่รวบรวมรายการผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นตัวเลือกการสรรหาผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปัจจุบันมีรายการผู้ประกอบการแล้ว 595 ผู้ประกอบการ

สำหรับในส่วนของ Government to Government (G2G) หรือ ระหว่างรัฐกับรัฐ DGA มุ่งเน้นการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐกับรัฐ เช่น ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Exchange: GDX) เพื่อเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานรัฐ บนช่องทางการสื่อสารที่มีความปลอดภัย ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงแล้ว 13 หน่วยงาน 74 API ข้อมูลบริการ และมีการเชื่อมโยงข้อมูลไปแล้ว 133.44 ล้านครั้ง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้กับบุคลากรภาครัฐ โดยการจัดตั้ง TDGA (สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล) เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในทักษะทางด้านดิจิทัลในการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้ให้การอบรมบุคลากรภาครัฐไปแล้วกว่า 1,942,443 คน โดยในปี 67 จะขยายผลไปถึงบุคลากรระดับท้องถิ่น โดยจะมีการออกแบบหลักสูตรดิจิทัลสำหรับท้องถิ่นโดยเฉพาะ และจะพัฒนาทักษะดิจิทัล onsite โดย TDGA และเครือข่าย มากกว่า 2,000 ราย ผ่านช่องทาง Online ด้วยระบบ DGLP ที่รองรับผู้เรียน มากกว่า 300,000 ราย

และที่สำคัญมีการพัฒนา “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” ซึ่งเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารงานและการให้บริการขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยปัจจุบันมี อปท. เข้ารับการอบรมแล้ว 659 หน่วยงาน ติดตั้งและใช้ระบบ 117 หน่วยงาน เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกทุกที่ ทุกเวลา นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้ทั่วประเทศ 

ระบบท้องถิ่นดิจิทัล เป็นระบบบริการประชาชนที่ประกอบด้วย 5 บริการหลัก คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS), ระบบขออนุญาตก่อสร้าง (สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 150 ตร.ม.) ประชาชนขออนุญาตได้ด้วยตนเอง ปักหมุดสถานที่ก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์, ระบบออกหนังสือรับรองแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารออนไลน์ ประชาชนขอหนังสือรับรองฯ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์, ระบบชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ อาทิ ค่าขยะ ค่าบำบัดน้ำเสีย ผ่านระบบออนไลน์ โดยเพียงสแกน QR Code และ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับ-ส่งหนังสือราชการกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ได้สะดวกรวดเร็วและประหยัดในการจัดพิมพ์เอกสารและจัดหาแฟ้มเก็บเอกสารอีกต่อไป” ดร.สุพจน์ กล่าว

ในครั้งนี้ DGAลงพื้นที่จริงเพื่อดู “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” ของเทศบาลตำบลบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี ดร.เพ่ง บัวหอม ปลัดเทศบาลตำบลบางเสร่ ให้การต้อนรับพร้อมให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล นับเป็นโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ในการใช้งานระบบท้องถิ่นดิจิทัลของประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ สามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายผ่านช่องทางเดียวได้สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา และยังสามารถติดตามสถานการณ์การดำเนินงานของตนเองได้ตลอดเวลา ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อขอรับการบริการต่าง ๆ ขณะเดียวกันเทศบาลตำบลบางเสร่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหน่วยงานภาครัฐสามารถบริหารจัดการและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้โดยง่าย สามารถจัดเก็บข้อมูล ติดตาม และให้บริการอย่างเป็นระบบ ลดต้นทุนในการดำเนินงานและให้บริการประชาชน

นอกจากนี้ยังสร้างเครือข่ายเพื่อนบางเสร่ หรือ B-Buddy Bang Saray เป็นอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึง ไม่เข้าใจในระบบดิจิทัลของกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทั่วไป ให้มีความเข้าใจและเข้าถึงมากขึ้น เน้นความสำคัญในเรื่องของโอกาสประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าใช้บริการสาธารณะ ซึ่งทีม B-Buddy จะมีการแจ้งถึงข้อมูล บัญหา ข้อคิดเห็น ที่ส่งตรงมายังเทศบาลด้วยระบบดิจิทัล และร่วมกันแยกแยะประเด็นร่วมกับทีมพนักงานของเทศบาลฯ แล้วส่งต่อให้ผู้บริหารแก้ปัญหา และหาแนวทางแก้ไข

ดร.สุพจน์ กล่าวเสริมในช่วงสุดท้ายว่า จากความสำเร็จของโครงการต่างๆ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ที่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทและภาระกิจของ DGA ในการนำประเทศให้เป็น Smart Nation Smart Life เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีการบริหารจัดการและนำเสนองานบริการสาธารณะผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น ซึ่งผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลส่งผลให้ประเทศไทยได้อันดับการพัฒนาด้านรัฐบาลดิจิทัลที่จัดสำรวจโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Check Also

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย สปป.ลาว และเมียนมาเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) ย้ำเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เป็นรูปธรรม   

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และนาย คิน หม่อง ยี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมียนมา ได้ร่วมกันเปิดตัวแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) (2567 – 2573)