การเล่นสนุกกับเด็กเป็นของคู่กัน พ่อแม่หลายคนอาจนิยมเลือกหาของเล่นเสริมพัฒนาการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้ลูกเล่น แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักมองข้ามคือ การตอบโต้และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างที่ลูกกำลังเล่น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตในวัย 0-6 ปี โดย พรูเด็นเชียล ประเทศไทย พรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว
จึงร่วมมือกันสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม ผ่านกิจกรรม “เลี้ยงถูก ลูกดี” เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ใช้เวลาเล่นสนุกและเติมเต็มความรู้ในการเลี้ยงดูลูกให้กับพ่อแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน “การดูแลแบบตอบสนอง” หรือ Responsive caregiving ที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและมีพัฒนาการที่สมวัย พร้อมเผยเทคนิคการเล่น “ส่ง-รับ” กับลูกใน 5 ขั้นตอน
เพราะการเล่นในวัย 0-6 ปีสำคัญกว่าที่คิด
การเล่นของเด็กคือการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการทางสมองในช่วง 6 ปีแรก เนื่องจากกิจกรรมและประสบการณ์ที่เด็กได้ลงมือทำ จะกระตุ้นกระบวนการทำงานของเซลล์สมองให้เชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ และนำไปสู่พัฒนาการด้านความคิดเชิงเหตุผลที่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ แก้ปัญหาได้ และตัดสินใจเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในชีวิตที่จะต้องเผชิญเมื่อเด็กโตขึ้น
5 ขั้นตอน เทคนิคการ “เสิร์ฟและโต้กลับ”
การ“เสิร์ฟและโต้กลับ” หรือ Serve & Return Technics เป็นเทคนิคการสร้างปฏิสัมพันธ์และการตอบสนองระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แค่ 15 นาที ก็กลายเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ
1. มีส่วนร่วมในสิ่งที่เด็กสนใจ (Share the Focus) พ่อแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกสนใจอะไรอยู่ โดยการหมั่นสังเกตความสนใจของลูกจากท่าทางหรือสีหน้า เช่น ลูกน้อยอาจจะมองหรือชี้ไปที่บางสิ่ง ส่งเสียงหรือแสดงทางสีหน้า รวมทั้งการขยับแขนและขา นี่คือการที่ลูก “เสิร์ฟ” สิ่งที่เขาสนใจมาให้เรา เราก็ต้องหันมาสนใจในสิ่งเดียวกัน
2. สนับสนุนและให้กำลังใจลูก (Supporting and Encourage) เมื่อลูกสนใจสิ่งไหน หรือ “เสิร์ฟ” มาให้พ่อแม่ เราสามารถ ”ตอบโต้” กลับไปได้โดยคอยอยู่เป็นคนสนับสนุนทั้งทางอารมณ์และทางร่างกาย ผ่านทั้งคำพูดและการกระทำ เช่น การยิ้มและพยักหน้าเพื่อแสดงให้รู้ว่าพ่อแม่กำลังสนใจสิ่งเดียวกับเขาอยู่ การชวนคุย ซักถาม หรือเล่นกลับไป หรือชมเชยว่าเมื่อทำได้ การทำแบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนเข้าใจและสนับสนุน
3. ตั้งชื่อ หรือบอกคำศัพท์ต่าง ๆ ขณะเล่นกับลูก (Give it a name) ในขณะที่เล่นกับลูก ให้พูดแนะนำคำศัพท์ใหม่ ๆ โดยเรียกชื่อสิ่งของนั้นๆ หรือบอกชื่อกิจกรรมที่ลูกกำลังทำ เช่น ระหว่างที่ลูกเล่นกับรถของเล่น ก็บอกว่า “นี่รถนะ มีล้อด้วย” หรือหยิบสีเทียนสีเขียวมาระบาย ก็บอกว่า “สีเขียว” ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเชื่อมโยงคำศัพท์กับสิ่งของหรือประสบการณ์จากการเล่นได้ และยังช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ได้อีกด้วย
4. สลับกันทำและรอการตอบกลับ (Take turns…and wait) เวลาเล่นด้วยกัน พ่อแม่ต้องรอให้ลูกเป็นฝ่าย “โต้กลับ” ด้วย นั่นคือพ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกคิดและบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือเป็นฝ่ายนำหรือสลับบทบาทกันเล่น เพื่อฝึกฝนพัฒนาความคิด และการตัดสินใจ
5. สังเกตการจบกิจกรรมหนึ่งและเริ่มอีกกิจกรรมหนึ่ง (Practice endings and beginning) พ่อแม่ควรสังเกตสัญญาณของลูกว่า เขาต้องการจบกิจกรรมหนึ่งและหันไปสนใจสิ่งอื่น เช่น การปล่อยของเล่นแล้วหยิบชิ้นใหม่ การหันไปดูอย่างอื่น หรือเดินไปที่อื่นแล้วส่งเสียง โดยพ่อแม่สามารถชักชวนให้ลูกจบกิจกรรมด้วยกัน เช่น เอาชองเล่นชิ้นนั้นไปเก็บ และ พร้อมร่วมแบ่งปันความสนใจต่อสิ่งใหม่ด้วยกันอีกครั้งในข้อที่ 1
สรุปได้ว่า การเล่นกับลูกด้วยเทคนิค “ส่ง-รับ” เพียงวันละเล็กน้อย จะช่วยทำให้ช่วงเวลาในแต่ละวันของครอบครัวเป็นเรื่องสนุกและกลายเป็นธรรมชาติมากขึ้น พร้อมสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดีให้ลูกทั้งในวันนี้และตลอดชีวิต