Esri ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ ด้วยความเชี่ยวชาญในการพัฒนา ArcGIS ซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลก เปิดกลยุทธ์ปี 67 มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันเพื่อตอบรับเทรนด์ ESG ด้วยการนำเทคโนโลยี GIS เข้าไปช่วยในด้าน ESG ให้กับธุรกิจ อาทิ ส่งเสริมสมาร์ทซิตี้ การจัดการภัยพิบัติ การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรอย่างคุ้มค่าและใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนในการวิเคราะห์พื้นที่ในการติดตั้งโซล่าเซลล์ เป็นต้น หวังช่วยกิจการรัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สังคม และประเทศ
ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะขับเคลื่อนบริษัทฯ ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันให้สอดรับเทรนด์ ESG มากขึ้น โดยนำเทคโนโลยี GIS เข้าไปช่วยในด้าน ESG ให้กับธุรกิจ ผ่าน 4 เทคโนโลยีหรือโซลูชันที่ตอบโจทย์เทรนด์ ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มส่งเสริมพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีความยั่งยืน (Geocity Data Platform) 2. โซลูชันที่ช่วยในการรับมือและแก้ปัญหาภัยพิบัติ 3. โซลูชันด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อช่วยพัฒนาการผลิตสินค้าการเกษตรอย่างคุ้มค่าและใส่ใจสิ่งแวดล้อม สนับสนุนกฎหมายการนำเข้าส่งออกของกลุ่มประเทศยุโรป และ 4. พลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดย Esri Thailand มีเครื่องมือวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ พื้นที่รับแดด และปัจจัยต่าง ๆ ในการติดตั้งหรือลงทุนโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมที่สุด
ดร.ธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยี GIS ข้างต้น ได้เข้าไปมีส่วนช่วยในด้าน ESG ตามกรอบแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ๆ ดังนี้
1. ด้านสมาร์ทซิตี้ ได้พัฒนา Geo City Data Platform เพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้เป็นเมืองที่มีความยั่งยืน ช่วยบูรณาการฐานข้อมูลเมืองสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ครอบคลุมข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลกายภาพและเชื่อมโยงข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายในเมือง แล้วนำเสนอในรูปแบบทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ ที่ไม่เพียงแค่มุม Visualization เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ และเห็นความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของข้อมูล ช่วยจำลองสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในเมือง เพื่อการติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคต นำไปสู่การวางแผนรับมือกับปัญหาเมืองได้อย่างตรงจุด โดยเมืองสามารถดึงเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เตรียมความพร้อม และรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที นอกจากนี้ ยังเป็นสื่อกลางระหว่างเมืองและประชาชนในการรับเรื่องร้องเรียน และแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ทันที เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดียิ่งขึ้น
2. ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ GIS เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในด้าน Climate Change ทั่วโลก โดย Esri เคยได้รับรางวัลการันตี The Forrester New Wave™:Climate Risk Analytics, 2023 จากบริษัทวิจัย Forrester ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศ รวมถึง Esri ยังมีโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหา Climate Crisis ได้อย่างรอบด้าน ตั้งแต่การช่วยประเมินผลกระทบ การวิเคราะห์และจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงหรือจุดเสี่ยงในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยี GIS เองสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถของการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้มากขึ้น รวมถึงการช่วยหาโซลูชันที่เป็นแนวทางสู่การบริหารจัดการสถานการณ์และทรัพยากรให้เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ Esri Thailand ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลด้านสภาพแวดล้อม (Urban Hazard Studio) ที่ได้พัฒนาร่วมกับ FutureTales LAB by MQDC ด้วยการใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม จากการวิเคราะห์สถานการณ์ฝนร้อยปี เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำข้อมูลไปวางแผนรับมือ ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือเพื่อการแก้ปัญหาของเมืองและสิ่งแวดล้อม โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มรับมือภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น สึนามิ และฝุ่น เป็นต้น
3. ด้านเกษตรกรรม ปัจจุบันเทรนด์โลกให้ความสนใจเรื่องแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เห็นได้จากที่หลายประเทศเริ่มมีการประกาศใช้ข้อกฏหมายเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ดำเนินการตามแนวทาง โดยเฉพาะในแถบยุโรปเองก็มีกฏหมายด้านนี้บังคับใช้ และมีแนวโน้มไปยังหลายประเทศทั่วโลก เช่น กฎหมาย EUDR (EU Deforestation Regulation) ซึ่งการใช้เทคโนโลยี GIS สามารถพัฒนาการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ให้สอดรับกฎหมายการนำเข้า-ส่งออกของกลุ่มประเทศยุโรป โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ดูการเปลี่ยนแปลงของป่าจากภาพถ่ายดาวเทียม และการติดตามพืชที่เพาะปลูกว่าไม่ได้มาจากการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถช่วยการันตีสินค้าว่าได้มาจากพื้นที่ที่ไม่ทำลายธรรมชาติ และสามารถติดตามข้อมูลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อช่วยสนับสนุนมาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ
4. ด้านพลังงานทดแทน โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงานที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เทคโนโลยี GIS จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถวิเคราะห์หาพื้นที่เหมาะสมในการติดตั้งโซล่าเซลล์ และสามารถคาดการณ์ปริมาณพลังงานจากแสงอาทิตย์ให้เพียงพอกับการใช้งาน สามารถประเมินระยะเวลาการคืนทุนของการติดตั้งโซลาเซลล์ และยังสามารถมอนิเตอร์เพื่อติดตามการทำงานของอุปกรณ์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงเพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงรักษา
อย่างไรก็ดี Esri ในฐานะผู้ให้บริการด้าน Location Intelligence มุ่งมั่นบริหารธุรกิจภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยตั้งใจนำเทคโนโลยี GIS มาช่วยในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนมีผลกระทบต่อความยั่งยืนในอนาคต ตลอดจนการให้ความร่วมมือและสนับสนุนภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความเป็นอยู่ในด้านต่าง ๆ สู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า ดร.ธนพร กล่าวทิ้งท้าย