Breaking News
Home / Society / “มูลนิธิรักษ์ไทย” นำเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาจาก “ฟูจิฟิล์ม” มอบให้ “รพ. แม่ตื่น” ขับเคลื่อนภารกิจตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล อ. อมก๋อย จ. เชียงใหม่ 

“มูลนิธิรักษ์ไทย” นำเครื่องเอกซเรย์แบบพกพาจาก “ฟูจิฟิล์ม” มอบให้ “รพ. แม่ตื่น” ขับเคลื่อนภารกิจตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล อ. อมก๋อย จ. เชียงใหม่ 

 บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด เผยเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา “FDR Xair” ได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิรักษ์ไทย สมาชิกองค์กร CARE International โดยการจัดซื้อผ่านการสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อนำไปใช้ในภารกิจยุติวัณโรคด้วยการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงและประชากรกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข สอดคล้องกับเป้าหมายโครงการ Stop TB and AIDS through RRTTPR Year 2024-26 (STAR 2024-26) ของมูลนิธิฯ

โดยล่าสุดมูลนิธิรักษ์ไทย ได้นำหนึ่งในเครื่องเอกซเรย์จากฟูจิฟิล์มที่จัดซื้อผ่านกองทุนโลก ไปมอบให้แก่โรงพยาบาลแม่ตื่น โดยที่ผ่านมา ฟูจิฟิล์ม ประเทศไทย และมูลนิธิรักษ์ไทย ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับวัณโรคในไทย รพ. แม่ตื่น จะนำเครื่องเอกซเรย์ใหม่ไปออกหน่วยในชุมชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึงการคัดกรอง คาดว่าจะสามารถตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้ถึง 1,500 รายต่อปีจากประชากรกว่า 70,000 รายในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

รายงาน TB Global Report 2023 โดยองค์กรอนามัยโลก เผยว่าวัณโรคคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 1.3 ล้านคนในปี 2565 โดยประเทศไทย ซึ่งได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีตัวเลขการติดเชื้อสูง ยังคงเผชิญกับปัญหาการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากวัณโรคราว 12,000 -14,000 คนต่อปี นอกจากนี้ ยังมีประชากรอีกจำนวนมากที่อาจติดเชื้อวัณโรคโดยไม่ได้รับการวินิจฉัย เนื่องจากเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรอง

คุณนิภา ชมภูป่า ผู้ประสานงานโครงการสุขภาพ มูลนิธิรักษ์ไทยภาคเหนือ กล่าวถึงภารกิจในครั้งนี้ว่า “โครงการ Stop TB and AIDS through RRTTPR Year 2024-26 (STAR 2024-26) ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิรักษ์ไทย มุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มประชากรข้ามชาติและกลุ่มเปราะบางรวมทั้งหมด 19 จังหวัดโดย จ.เชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติราว 200,000 คน เป็นกลุ่มขึ้นทะเบียนแรงงานถูกต้องประมาณ 80,000 คน  โดยการนำประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนี้มาเข้ากระบวนการตรวจคัดกรองเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะในพื้นที่อมก๋อย ที่มีประชากรข้ามชาติและแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่มาก โดยหนึ่งในภารกิจท้าทายของมูลนิธิในโครงการ STAR 2024-26 ครั้งนี้คือการยุติการติดเชื้อวัณโรคและ HIV ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อวัณโรค เราจึงร่วมมือกับโรงพยาบาลแม่ตื่น ที่ดูแลประชาชนในพื้นที่อมก๋อย โดยเราจำเป็นต้องเข้าตรวจเชิงรุกในชุมชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งประชากรข้ามชาติและกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด มูลนิธิรักษ์ไทยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก เพื่อจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา “FDR Xair” ที่มาพร้อม AI ที่ช่วยแพทย์ประเมินผลเอกซเรย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพระหว่างการออกหน่วยตรวจคัดกรอง เพื่อนำผู้เสี่ยงติดเชื้อไปรับการวินิจฉัยได้เร็วและนำเข้ากระบวนการรักษาได้ทันท่วงที”

ด้านนายแพทย์ธนชล วงส์หิรัญเดชา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลแม่ตื่น อธิบายความท้าทายในการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ว่า “รพ.แม่ตื่น ดูแลรับผิดชอบประชากรราว 16,500 คน  ครอบคลุม 2 ตำบลของ อ. อมก๋อย ได้แก่ ต.แม่ตื่น และ ต.ม่อนจอง ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 270 กิโลเมตรโดยใช้เวลาเดินทางขึ้นเขาสูงชันกว่า 3 ชั่วโมง ในพื้นที่นี้ มีผู้ติดฝิ่นและผู้ป่วย HIV อยู่ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มมี่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไปหลายเท่า แต่การนำประชากรกลุ่มนี้มาตรวจคัดกรองและรักษานั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย รพ. แม่ตื่นจึงได้ปรึกษามูลนิธิรักษ์ไทย ในการนำอุปกรณ์ตรวจคัดกรองที่เข้าถึงชุมชนเหล่านี้ เราได้รับการสนับสนุนเครื่องเอกซเรย์แบบพกพา FDR Xair ที่มีระบบ AI ที่ช่วยให้เราออกหน่วยคัดกรองคนจำนวนมากได้ ในปี 2567 เราจะขยายการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและตั้งเป้าคัดกรองประชากรถึง 1,500 คนต่อปี จากประชากรทั้งหมด 70,000 คนในพื้นที่อมก๋อย”

เครื่องเอกซเรย์ของฟูจิฟิล์ม เป็นหัวใจสำคัญของภารกิจการตรวจคัดกรองครั้งนี้ เครื่องดังกล่าวได้รับการรับรองจากกองทุนโลก ด้านคุณภาพและการใช้งานที่เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ โดย มร. โซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้ร่วมนำเทคโนโลยีเอกซเรย์ล้ำสมัยมาต่อสู้กับวัณโรค การตรวจพบเชื้ออย่างรวดเร็ว เป็นกุญแจสำคัญสู่การรักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพ เครื่องเอกซเรย์ FDR Xair มีขนาดกะทัดรัด พกพาง่าย และอ่านผลได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับการออกหน่วยตรวจนอกโรงพยาบาล จุดแข็งของเครื่องนี้คือขนาดเล็กและน้ำหนักที่เบาเพียง 3.5 กก. ทั้งยังมีแบตเตอรี่ในตัว ทำให้พกพาไปออกตรวจได้แบบไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ฟูจิฟิล์ม ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน ภายใต้จุดมุ่งหมายใหม่ของกลุ่มบริษัทฟูจิฟิล์มในการ ‘แต่งแต้มรอยยิ้มให้โลกของเรา บริษัทเดินหน้าสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในภารกิจยุติวัณโรค เพื่อนำไปสู่การรักษาโรคนี้ได้อย่างทันท่วงที ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้คนอีกมากมาย”

Check Also

เอปสันกระตุ้นสังคมไทยใส่ใจปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยเรือนกระจกจำลองจากขยะขวดพลาสติก

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร และนางสาวปวีณา ศรีตระกูล หัวหน้าฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดกิจกรรม “Greenhouse Effect: Plastic Trap Stimulation” หนึ่งใน “From Waste To Worth” แคมเปญเพื่อสังคมประจำปีงบประมาณ 2567 ของบริษัทฯ