GO DIGITAL THAILAND Magazine เล่มที่ 4 ดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้กระจายถึงกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วน โดยภายในเล่มนำเสนอเรื่องการพัฒนาบุคลากร หรือ Manpower กล่าวถึงแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาบุคลากรที่ดำเนินการหลากหลายรูปแบบ
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาประเทศ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันประกวดนวัตกรรมในการสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้ชื่อ MIT Inclusive Innovation Asia 2018 โดย depa ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน MIT Inclusive Innovation Challenge (IIC) Global Grand Prize Gala เพื่อเป็นสักขีพยาน
ร่วมกับ Dr.Edward Rubesh, Program Director, IDE Center ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้จัดการแข่งขันในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในระดับนานาชาติ และนำองค์ความรู้และแนวทางเพื่อมาพัฒนาและยกระดับ Startup และผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาโซลูชันที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจดิจิทัลรวมถึงเพื่อสร้างโอกาสการเข้าสู่เวทีระดับโลกได้ในอนาคต โดยเนื้อหาต่างๆ ของการพัฒนาบุคลากรได้ถ่ายทอดใน GO DIGITAL THAILAND Magazine เล่มที่ 4
นอกจากนี้ depa ยังได้ประชุมหารือความร่วมมือกับ MIT Department of Mechanical Engineering หรือ MIT MECHE ที่อยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเนื้อหาและการนำเสนอของหลักสูตร MicroMasters Credential in Principles of Manufacturing ที่จะเปิดให้เป็น Course online บน platform edX ซึ่งเป็น platform online ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง Harvard กับ MIT ใช้เวลาเรียน 64 สัปดาห์ จำนวน 4 modules การเรียนการสอนผสมผสานระหว่าง Knowledge-Technology-Case Studies ความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าหมายให้ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมแต่ยังไม่มี degree หรือความรู้เรื่อง Manufacturing & Engineering ได้รับ Certificate เมื่อเรียนจบครบทั้ง 4 modules
อีกรูปแบบหนึ่งของการพัฒนา คือ โครงการ Coding Thailand ที่เกิดขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่เป็นผู้นำการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ระดับโลก พร้อมด้วยพันธมิตรภาคเอกชน อย่าง ไมโครซอฟท์ กูเกิล อักษรเอ็ดดูเคชั่น ฯลฯ
ได้สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานทางด้านการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เยาวชนไทย ย้ายห้องเรียนมาไว้บนอุปกรณ์ดิจิทัลที่คนรุ่นใหม่คุ้นเคย เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่การส่งเสริมและพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนอันเป็นทรัพย์สินมีค่าสูงสุดในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจและสังคมไทยที่เริ่มเป็น Aging Society “สังคมผู้สูงวัย” ที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 10% ของทั้งประเทศ
โครงการ Coding Thailand เปรียบเสมือนโลกใหม่ของการศึกษายุคดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัลซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนโยบายประเทศไทย 4.0 เพราะการส่งเสริมและพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่เป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจและสังคมไทย
รูปแบบการเรียนรู้ผ่าน Codingthailand.org ครอบคลุมทั้งการเรียนรู้แบบทางการและไม่ทางการ โดยเน้นเนื้อหาของบทเรียนด้านการโค้ดดิ้งให้เข้ากับบริบทการศึกษาในชั้นเรียนระดับต่างๆ ควบคู่กับกิจกรรมสนุกสนานที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียน
อีกทั้งยังมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมเพิ่มเติม ที่มุ่งพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ตลอดจนทักษะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงต่อยอดการเรียนรู้ด้านการโค้ดดิ้ง เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเรียนรู้ได้ตั้งแต่รูปแบบ Unplugged หรือการเรียนรู้ที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งเหมาะกับเด็กปฐมวัย การเรียนรู้ด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพิ่มเติม
ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ใบปริญญาจะไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เพราะเราสามารถเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ แม้แต่เด็กที่ชอบเล่นเกม “อีสปอร์ต” ก็สามารถเลือกเรียนรู้โค้ดดิ้งได้ เรามีทั้งการเรียนในห้องเรียนและเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง www.CodingThailand.org แล้วยังมีแผนการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลพร้อมออกใบรับรองการเรียนรู้ digitalskill.org ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กำลังดำเนินการพัฒนา
โลกยุคใหม่การเรียนรู้ในห้องเรียนจะลดความสำคัญลง ใบปริญญาตรี โท เอก และดุษฎีบัณฑิต อาจไม่ใช่คำตอบของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล ที่ไม่ต้องใช้ “Degree” ก็เป็นเศรษฐีได้
ทั้งนี้ ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดอีบุ๊ค GO DIGITAL THAILAND ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หรือ http://eservice.depa.or.th/ebook-web/fro-web4/index.html