Breaking News
Home / Finance / กสิกรไทย จับมือ KBZ Bank ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของเมียนมา เปิดบริการโอนเงินจ๊าดผ่าน K PLUS ให้ชาวเมียนมาในไทยกว่า 2 ล้านรายโอนเงินกลับประเทศได้ง่ายและเร็ว

กสิกรไทย จับมือ KBZ Bank ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ของเมียนมา เปิดบริการโอนเงินจ๊าดผ่าน K PLUS ให้ชาวเมียนมาในไทยกว่า 2 ล้านรายโอนเงินกลับประเทศได้ง่ายและเร็ว

ธนาคารกสิกรไทย เดินหน้าเชื่อมต่อการทำธุรกรรมการเงินผ่าน K PLUS ในระดับภูมิภาค ให้บริการโอนเงินจ๊าดผ่าน K PLUS ตอบรับความต้องการชาวเมียนมาในประเทศไทยกว่า 2 ล้านราย ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2566 ภายใต้ความร่วมมือกับ KBZ Bank ธนาคารเอกชนอันดับ 1 ในเมียนมา โดยธนาคารตั้งเป้ามีธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศทุกสกุลเงินผ่าน K PLUS รวมกว่า 20,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มสกุลเงินโอนไปยังประเทศปลายทางทั่วโลกภายในปี 2567 

ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีชาวเมียนมาที่ทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2 ล้านราย โดยมีการโอนเงินกลับไปที่เมียนมาเฉลี่ยคนละ 100,000-200,000 จ๊าดต่อเดือน (เทียบเท่า 1,250-2,500 บาท) ธนาคารจึงได้ร่วมมือกับ KBZ Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนอันดับ 1 ในเมียนมา ด้วยจำนวนเครือข่ายสาขาและเครื่องเอทีเอ็มมากที่สุด เปิดให้บริการโอนเงินจ๊าดผ่าน K PLUS ไปยังบัญชี KBZPay Wallet ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอี-วอลเล็ต ที่เป็นนิยมของชาวเมียนมา มีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านราย  

“บริการโอนสกุลเงินจ๊าดผ่าน K PLUS ให้บริการเป็นภาษาเมียนมา ไม่ต้องใช้เอกสารประกอบ และมีจุดเด่นที่ช่วยแก้ปัญหาของผู้ที่ต้องการโอนเงินไปที่เมียนมา ได้แก่ 1. ค่าธรรมเนียมถูก โดยจะมีโปรโมชันพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2566  2. ลูกค้าสามารถโอนเงินได้ด้วยตนเองผ่าน K PLUS ไม่ต้องเสียเวลาติดต่อนายหน้าหรือเดินทางไปสาขาธนาคาร  3. ได้อัตราแลกเปลี่ยนเงินที่มีมาตรฐานชัดเจน 4. ตรวจสอบการทำรายการได้ ทั้งชื่อผู้รับและมีแจ้งเตือนเมื่อเงินเข้าบัญชีปลายทาง ไม่ต้องเสี่ยงเงินสูญหาย ในขณะที่ผู้รับเงินในเมียนมาสามารถเบิกเงินสดได้ง่ายๆ ที่ KBZ Bank ทุกสาขา ตู้เอทีเอ็ม และจุดบริการ KBZPay กว่า 40,000 จุดทั่วประเทศเมียนมา 

ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่าธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศผ่าน K PLUS กว่า 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% จากปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันลูกค้าสามารถใช้ K PLUS โอนเงินไปต่างประเทศได้ 15 สกุลเงิน ครอบคลุม 62 ประเทศทั่วโลก รองรับสกุลเงินที่คนไทยนิยมโอน เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์ฮ่องกง หยวน เยน วอน เป็นต้น ธนาคารคาดว่า ภายในสิ้นปี 2566 นี้ จะมีมูลค่าธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศผ่าน K PLUS รวม 20,000 ล้านบาท และตั้งเป้าขยายจำนวนสกุลเงินโอนไปยังประเทศปลายทางทั่วโลก ภายในปี 2567  

นาย U Zaw Lin Aung ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBZ Bank กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยในโปรเจคครั้งสำคัญนี้ ซึ่งจะช่วยให้ชาวเมียนมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ด้วยความร่วมมือนี้ ลูกค้าชาวเมียนมาในประเทศไทยจะสามารถโอนเงินกลับบ้านให้ครอบครัวและคนสำคัญได้ทันที โดยจะได้รับเงินเข้าบัญชี KBZPay e-Wallets แบบเรียลไทม์ และด้วยบริการนี้ ลูกค้าไม่จำเป็นเดินทางและไปรอคิวที่สาขา รวมถึงไม่ต้องเตรียมเอกสารให้วุ่นวายอีกด้วย” 

ขั้นตอนโอนเงินจ๊าดผ่าน K PLUS ไปประเทศเมียนมา โอนได้ง่ายๆ ดังนี้  

1. เปิด K PLUS และเลือกเมนู “โอนเงิน”  

2. เลือกเมนู “โอนเงินต่างประเทศ”  

3. ในกรณีที่ทำรายการครั้งแรก ระบบจะให้ใส่ที่อยู่ที่ติดต่อได้เป็นภาษาอังกฤษ  

4. เลือก “เมียนมา” เป็นประเทศปลายทาง  

5. กรอกข้อมูลผู้รับเงิน เช่น เบอร์โทร KBZPay จำนวนเงิน วัตถุประสงค์การโอน 

6. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนกดยืนยันการทำรายการ จากนั้นรับ e-Slip เป็นหลักฐาน 

สำหรับชาวเมียนมาที่สนใจ สามารถเปิดบัญชีธนาคารกสิกรไทย และสมัครใช้ K PLUS ได้ง่ายๆ เพียงนำหนังสือเดินทาง หรือเอกสารสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และหนังสือรับรองการทำงานของนายจ้าง ติดต่อธนาคารกสิกรไทยได้ทุกสาขาทั่วประเทศ 

Check Also

AIS ประสบความสำเร็จการขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท ตอกย้ำผู้นำอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

“บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“บริษัท” หรือ “AIS”)  ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่เชื่อมั่นและจองซื้อหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนที่บริษัทเสนอขายในครั้งนี้จำนวน 5 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.54% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 4 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 2.74% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.76% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.92% ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.22% ต่อปี  โดยเปิดจองซื้อในระหว่างวันที่ 8 และ 11-12 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ระดับ AAA(tha) จาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  ส่งผลให้ยอดจองซื้อหุ้นกู้เต็มจำนวนตามเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท