โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม ครอบคลุมชุมชน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาหมัน บ้านตอง บ้านตองเจริญราษฎร์ บ้านบอน บ้านฝาย และบ้านก้อ มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 2,325 คน 587 ครัวเรือน เป็นชาติพันธุ์ไทยพื้นเมือง ตั้งอยู่ในหุบเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 300-400 เมตร พื้นที่ทั้งหมด 74,494.9 ไร่ ประชาชนในพื้นที่ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
อาทิ นาข้าว ข้าวไร่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และยางพารา ในพื้นที่เกษตรกรรรม 20,186 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด 9,711.33 ไร่ คิดเป็น 48% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด มีการใช้สารเคมีสูง และพื้นที่เสื่อมโทรม มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และขาดน้ำสำหรับการทำการเกษตร เกิดหนี้สินมากและขาดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่ มาจากชุมชนตำบลแม่จริม โดยคณะกรรมการการพัฒนาหมู่บ้านตอง บ้านตองเจริญราษฎร์ บ้านนาหมัน ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่จริม อ.แม่จริม จ.น่าน ทำหนังสือถึงประธานมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อขอรับการสนับสนุนเป็นพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวง และ สวพส. ได้เข้าดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน โดยมีรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย 1. หลักการทำงานของโครงการหลวง คือ การวิจัยเพื่อเอาผลไปให้ชาวเขาได้ใช้ประโยชน์และเป็นไปตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลาย ๆ ชนิด และการสำรวจ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยง ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเอง คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และการเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ร่วมทั้ง การสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้นำเกษตรกร หน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานภายนอก ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ สวพส.ร่วมลงมือปฏิบัติกับผู้นำอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างการยอมรับและเชื่อถือกับชุมชน โดยยึดตามแนวทางแผนพัฒนาด้านงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง แผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง แผนบูรณาการระดับจังหวัดน่าน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยมีการนัดหมายพบปะผ่านการประชุม และร่วมกิจกรรมในระดับกลุ่มศูนย์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสะเนียน (สะเนียน โป่งคำ แม่จริม) ระดับจังหวัดน่าน 11 โครงการ แลกเปลี่ยนผ่านเวทีผู้นำเกษตรกรพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่แบบโครงการหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงเพื่อแก้ปัญหาปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน รวมทั้งหมดจำนวน 550 ราย ผ่านกิจกรรมงาน KM DAY ที่นับว่าเป็นการสรุปบทเรียนบทบาทผู้นำเกษตรกร สร้างพลังใจ พลังความคิด และทักษะให้กับผู้นำเกษตกร กล่าวคือ “หัวใจสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สูง คือ การพัฒนาบนฐานความรู้ที่เหมาะสม โดยมีการใช้ผู้นำเป็นหลัก และความร่วมมือของทุกฝ่าย
จนกระทั่งชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดจำนวน 677 แปลง 9,711.33 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.18 ของพื้นที่รายแปลงทั้งหมด เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเหลือเพียง จำนวน 179 แปลง 2,645.68 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 27.24 หรือมีสัดส่วนการลดลง 7,065.65 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20.94
เกิดผลผลิต ให้ผลลัพธ์ที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวนา ปลูกพืชตระกูลถั่วได้ดี ข้าวพอเพียงต่อการบริโภคตลอดทั้งปี ทั้ง 6 ชุมชน ผลผลิตสามารถส่งจำหน่ายตลาดชุมชน ห้างแมคโคร เกษตรกรได้รับการส่งเสริมมีหนี้สินลดลง ชุมชนมีการบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง และที่สำคัญส่งผลให้ปัญหาไฟป่าหมอกควันลดน้อยลง
โดยสรุป ปัจจัยของความสำเร็จ ชุมชนตำบลแม่จริมมีผู้นำและชาวบ้านที่เห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เกษตรกรรู้สึกภาคภูมิใจที่ไม่เผา ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิม และเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ มีแปลงเรียนรู้ สามารถใช้เป็นจุดถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อขยายไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ เพิ่มขึ้น และหน่วยงานร่วมบูรณาการ ขณะเดียวกัน สวพส. มีเจ้าหน้าที่ประจำในพื้นที่ มีความใกล้ชิดกับเกษตรกร เข้าถึงง่าย สามารถดูแลให้คำปรึกษา แนะนำ ส่งเสริมองค์ความรู้แบบโครงการหลวง เพื่อเป็นทางเลือกด้านเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น