ปี 2024 มีกระแสไวรัลและเทรนด์ฮิตเกิดขึ้นมากมายและหลากหลายกลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปที่หลอมรวมอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนไทยในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งวลีฮิต คอนเทนต์ บันเทิง ภาพยนตร์ เพลง กีฬา อาหารการกิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัตว์โลกน่ารัก ที่ต่างเชื่อมโยงส่งอิทธิพลบนโลกดิจิทัลไปยังชีวิตจริงอย่างแยกกันไม่ออก LINE ประเทศไทยจึงพาสรุป “10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิทัล 2024” ที่รอบนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “หมีเนย – หมูเด้ง – ช็อกโกแลตดูไบ – ไข่พะโล้” ยึดแทบทุกพื้นที่ ขณะที่ “กีฬา – สมรสเท่าเทียม – ฉ้อโกง” กลายเป็นประเด็นฮอต กระแสร้อนทำคนไทยนั่งไม่ติดผ่านบริการต่าง ๆ บนแอป LINE ในปีที่ผ่านมา
1. “น้องเนย-หมูเด้ง” คว้าหัวใจครองโลกดิจิทัล
– จับมือครองโลกออนไลน์กันแบบไม่ต้องสงสัย สำหรับ “น้องเนย” จาก Butterbear และ “หมูเด้ง” ที่ติดอันดับท็อปในหลายบริการบนแอป LINE โดย “ด้อมน้องเนย” ขึ้นแท่นกลุ่มแฟนคลับที่มีสมาชิกมากที่สุดบน LINE OPENCHAT กว่า 40,000 คน ส่วน “ด้อมหมูเด้ง” สร้างสถิติใหม่กวาดแฟน ๆ เข้ากลุ่มเร็วที่สุด โดยมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 5,000 เป็น 10,000 คน ในเวลาเพียง 10 นาที
นอกจากนี้ เพลง “น่ารักมั๊ยไม่รู้” ของน้องเนยยังติดท็อปเพลงฮิตที่ผู้ใช้นำมาสร้างคอนเทนต์มากที่สุดบนแพลตฟอร์ม LINE VOOM พร้อมด้วยเป็นหนึ่งในเพลงฮิตที่คว้ารางวัล Black Melody ศิลปินที่มียอดดาวน์โหลดบน LINE MELODY สูงสุดภายใน 2 วัน
2. คนดังแห่ออกสติกเกอร์ เข้าถึงแฟนในทุกโมเมนต์
– ฟาก LINE STICKERS ก็พบว่าเป็นปีที่คอลเลกชันสติกเกอร์ “คนดัง” เพิ่มขึ้นสูง จากการเป็นเครื่องมือสื่อกลางที่เข้าถึงกลุ่มแฟนคลับได้ทุกโมเมนต์ ทุกการพูดคุยบนโลกออนไลน์ เพราะมีทั้ง น้องเนย, หมูเด้ง, พี่จอง คัลแลน น้องแดน คุณจูดี้, ครอบครัวตัวฟอร์, หลิง-ออม, เจมิไนน์ – โฟร์ท และนักแสดงที่มีฐานแฟนด้อมอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ก็เป็นปีที่สติกเกอร์จากคำฮิตวลีเด็ดบนโลกโซเชียลก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง อย่าง birthday but with me (เกิดแต่กับกู) ที่ให้อารมณ์สนุกและกวน ไม่พลาดสักกระแส
3. ยกเครื่อง “อิโมจิ” ครั้งใหญ่ในรอบ 7 ปี
– หลายคนอาจเตะตาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเวลาแชท เพราะมีการยกเครื่องปรับโฉม “อิโมจิ” ครั้งใหญ่ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่หยิบมาอิโมจิตัวเดิมที่คุ้นเคย อีกหนึ่งไอเท็มสื่อสารอมตะบนโลกดิจิทัลกลับมาออกแบบใหม่และจัดเรียงตัวให้เหมาะกับการใช้งานจริง สอดคล้องกับพฤติกรรมที่คนใช้อิโมจิเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับอิโมจิบน Reaction ข้อความบน LINE ที่มีผู้ใช้งานมากขึ้นเช่นกัน
4. ของกินบนโลกโซเชียลมาแรง รอนานแค่ไหนก็ยอม
– เป็นปีที่เรียกได้ว่า “ของกิน” ที่เป็นกระแสบนโลกโซเชียลมีอิทธิพลอย่างมากกับวัฒนธรรมป๊อปในเมืองไทย ทำให้ตลาดอาหารคึกคักแบบไม่ต้องสงสัย อย่าง LINE SHOPPING พบว่า “ช็อกโกแลตดูไบ” เป็นสินค้าขายดีสุดๆ โดยช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมขายได้รวมกว่า 30,000 ชิ้น หรือร้านเค้กทุเรียน เค้กลอดช่องอย่าง Nie and Ivan ก็ครองสถิติการพรีออเดอร์รอเค้กนานที่สุดถึง 5 เดือน
ฟาก LINE MAN ก็พบว่า “ไข่พะโล้” จากกระแสของพี่เอ ศุภชัย มียอดออเดอร์จากร้านต่าง ๆ รวมกันแล้วโตขึ้นกว่า 2 เท่าใน 1 เดือน เมื่อเทียบกับเวลาปกติ โดยเฉพาะไข่พะโล้ก็ขายจากร้านต่าง ๆ รวมกันทั่วประเทศมากกว่า 260,000 ฟอง ขณะที่ “ข้าวขาหมู” จากกระแสหมูเด้ง ก็ทำให้ยอดค้นหาเมนูข้าวขาหมูบน LINE MAN เพิ่มขึ้น 50% ภายใน 1 สัปดาห์เช่นกัน ซึ่งทุกเมนูล้วนเป็นมีจุดเริ่มต้นจากกระแสบนโลกโซเชียลทั้งสิ้น
5. “กีฬา – สมรสเท่าเทียม – ฉ้อโกง” ประเด็นคอนเทนต์คนไทยมีส่วนร่วมคึกคัก
– มหกรรมกีฬาโอลิมปิกปีที่ผ่านมาสร้างบรรยากาศเชียร์ไทยปกคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้คอนเทนต์ของ LINE TODAY ในหมวดกีฬามีผู้รับชมเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงเวลาปกติ เช่น ข่าวเทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองแรกให้กับประเทศไทยในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 สอดคล้องกับที่แฟน ๆ กีฬาเปิดห้องโอเพนแชทเพื่อพูดคุยและเชียร์กีฬาที่ตัวเองชอบเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโอลิมปิกเช่นเดียวกัน ขณะที่คนไทยก็ตื่นตัวเสพคอนเทนต์ข่าวสารประเด็น “ฉ้อโกง – มิจฉาชีพ” รวมกว่า 36 ล้านเพจวิว โดยเนื้อหาที่คนเข้าชมมากที่สุดได้แก่ กรณี The Icon Group อันดับสองได้แก่ ทองแม่ตั๊ก และอันดับสาม อย่างแกงค์คอลเซ็นเตอร์ระบาด
ด้านประเด็น “สมรสเท่าเทียม” ที่สร้างบรรยากาศของการตื่นเต้นยินดี ก็ครองอันดับหนึ่งการรับชมไลฟ์บน LINE TODAY มากที่สุดถึง 1 ล้านคน จากงาน Pride Parade มากกว่าคอนเทนต์ไลฟ์อื่นถึง 3 เท่า
6. วงการเพลงสุดคึกคักเพราะความหลากหลาย
– ปีนี้ LINE MELODY มีการมอบรางวัล Black Melody รางวัลที่มอบให้แก่เพลงที่มียอดดาวน์โหลดเร็วและมากที่สุดบนบริการ LINE MELODY มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 18 รางวัล ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีที่เพลงที่ได้รับรางวัลมีความหลากหลายสุด ๆ สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ความนิยมของผู้ใช้งานที่หลากหลายและขยายกว้างมากขึ้น ตั้งแต่ศิลปินสังกัด ศิลปินอิสระ เพลงประกอบวิดีโอของคัลแลน-พี่จอง สองหนุ่มเกาหลีเที่ยวไทยอย่าง Toxic – HateBerry เพลงที่แต่งจากกระแสโซเชียลอย่าง หมูเด้ง Moo Deng (Reggaeton) – Karat K รวมถึงเป็นครั้งแรกที่ผู้ได้รับรางวัล BLACK MELODY เป็นหมีน้อยน่ารักอย่าง “น้องเนย” จากเพลง น่ารักมั้ยไม่รู้ – Butterbear
7. “หลวงพ่อทันใจ” แซงพระแม่ลักษมี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คนไทย “ขอพรออนไลน์” มากที่สุด
– หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยใช้บริการขอพรออนไลน์ผ่าน LINE ดูดวงมากที่สุดในปีทีผ่านมา ตามมาด้วยวัดดั๊กดูเศรษฐ์ อินเดีย และ พระแม่ลักษมี เกษรวิลเลจ ที่อยู่ในอันดับสาม นอกจากนี้คนไทยก็ไม่ลืมที่จะ “บริจาค” เพื่อสังคม โดย LINE ดูดวง ร่วมมือกับ “เทใจ” เป็นสื่อกลางในการส่งน้ำใจของคนไทยไปสู่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจุดทั่วประเทศ ที่เฉพาะในเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวก็ได้รับเงินบริจาคจากพี่น้องชาวไทยกว่า 8 แสนบาท
8. เกมสนุก เว็บตูนไทยปังเกินต้าน
– LINE ไอเดิล เรนเจอร์ เกมใหม่ล่าสุดจาก LINE GAME เผยสถิติผู้เล่นในไทยใช้เวลาในโหมด Idle รวมกว่า 242,023 นาที (4,033 ชั่วโมง) ภายในวันแรกที่เปิดให้บริการ หรือเทียบเท่าการออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมงนานถึง 11 ปี ขณะที่ฟาก LINE WEBTOON “ฉันนี่แหละท่านขุนที่สวยที่สุดในสยาม” ก็ต่อยอดความดัง จัดกิจกรรม Pop-up Store กลางสยาม เอาใจแฟนคลับแห่ร่วมช้อปรวมกว่าหมื่นคน
9. SME ทั่วไทยกว่า 2 ล้านคน ตื่นตัวหาความรู้ใหม่
– LINE for Business กระจายความรู้ให้ผู้ประกอบการ SME กว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านงานสัมมนามากมาย อาทิ BOOTCAMP DAY และ UPSKILL SME ที่จับมือกับ สสว. รวมถึงงานธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารอย่าง “จุดประกายธุรกิจไมซ์ ติดอาวุธธุรกิจอย่างยั่งยืน” ร่วมกับ TCEB และ THAI MICE Connect รวมทั้งคอร์สออนไลน์อย่าง BOOTCAMP Classroom และรายการโค้ชชวนคุย เป็นต้น
10. หลานม่า – ธี่หยด 2 ครองหนังซื้อตั๋วผ่าน LINE Pay
– เป็นปีที่หนังไทยคึกคักมากกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ไทยในปี 2567 สุดฮิตอย่าง หลานม่า และ ธี่หยด 2 สร้างปรากฏการณ์เป็นหนังที่คนซื้อตั๋วและจ่ายด้วย LINE Pay ที่แท็บ SF Cinema บนแท็บ LINE Wallet มากที่สุดของปี
ขณะที่อีกบริการฟินเทคอย่าง LINE BK ก็พบว่าคนไทยที่ประกอบอาชีพอิสระรวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตื่นตัวมองหาประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้นอย่าง “ประกันผู้ป่วยนอกเบาเบา” ขณะที่แผนโรคมะเร็งเป็นแผนที่มีความต้องการซื้อมากที่สุดในกลุ่มแผนโรคร้ายแรง สะท้อนให้เห็นการตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โดยลูกค้าเป็นเพศหญิงถึง 53%