Breaking News
Home / Life / โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภัยเงียบอันตรายที่พร้อมคร่าชีวิต

โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ภัยเงียบอันตรายที่พร้อมคร่าชีวิต

  โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีด้วยกันหลายประเภท ที่พบได้บ่อยที่สุดคือหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งผู้ป่วยมากกว่า 50% มักไม่มีอาการผิดปกติ ทำให้เข้าถึงการรักษาล่าช้าและเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 1.5 – 3.5 เท่า

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศราวุธ ลิ้มประเสริฐ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจ    โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว หรือ Atrial Fibrillation เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจห้องบน ส่งผลให้หัวใจเต้นเป็นจังหวะไม่สม่ำเสมอ ซึ่งบ่อยครั้งทำให้หัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติ
มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งถือนำไปสู่การรักษาที่ล่าช้าได้ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรค ได้แก่ ใจสั่น เพลีย วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก และเกิดความวิตกกังวลระหว่างที่มีหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มีได้ตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อยที่ไม่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน จนถึงกระทั่งรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วที่พบได้บ่อย ประกอบไปด้วย
•  อายุที่มากขึ้น ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อยที่สุด
•  โรคความดันโลหิตสูง
•  น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
•  โรคเบาหวาน
•  โรคหัวใจล้มเหลว
•  โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
•  โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
•  โรคนอนกรน
•   โรคไตวายเรื้อรัง
•   การรับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
•   การสูบบุหรี่

การคัดกรองโรคมีความสำคัญมาก เพราะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ โดยนอกจากการเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอแล้ว การตรวจโดยใช้เทคโนโลยีสวมใส่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาหรืออุปกรณ์เฉพาะ สามารถตรวจจับการทำงานของหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ
การวินิจฉัยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกาย ตรวจชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เช่น ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ไตวาย ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ และอาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor

หลักการในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ประกอบไปด้วย การดูแลรักษาโรคร่วมและกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ, ลดโอกาสการเกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ด้วยการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด, ลดหรือป้องกันอาการของโรค ด้วยการควบคุมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจและจังหวะหัวใจให้เป็นปกติ

ในส่วนของการรักษา ปัจจุบันนิยมใช้วิธี จี้ไฟฟ้าหัวใจ

เพื่อทำให้จังหวะหัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ โดยแพทย์จะใช้สายสวนชนิดพิเศษ ใส่ไปในตำแหน่งทีมีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความถี่สูงเท่ากับคลื่นวิทยุจี้ไปยังตำแหน่งที่มีความผิดปกติ ขณะทำการรักษาผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึก จึงช่วยลดอาการเจ็บขณะทำหัตถการได้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีจี้ไฟฟ้าหัวใจไม่เพียงลดอาการของโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้เท่านั้น แต่ยังช่วยชะลอการดำเนินโรค ซึ่งอาจช่วยให้ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรคได้เช่นกัน

การเตรียมตัวก่อนทำหัตถการจี้ไฟฟ้าหัวใจ
ก่อนการทำหัตถการจี้ไฟฟ้าหัวใจ ผู้ป่วยจะต้องงดรับประทานยาต้านการเต้นของหัวใจผิดจังหวะอย่างน้อย 3 วัน หรืออยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ และให้นำยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำมาด้วยในวันทำหัตถการ งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมผิวหนังบริเวณขาหนีบทั้ง 2 ข้างหรือคอด้านขวาขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์จะใส่สายสวน รวมทั้งจะได้รับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำบางรายจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะด้วย
 
การปฏิบัติตัวหลังการทำหัตถการจี้ไฟฟ้าหัวใจ
หลังทำการรักษาเสร็จเรียบร้อยผู้ป่วยจะต้องพักอยู่ที่ห้องพักฟื้น 1 คืนเพื่อรับการติดตามดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อถึงห้องพักต้องนอนราบห้ามงอขาข้างที่ทำอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการมีเลือดออกและมีก้อนเลือดใต้ผิวหนัง หากมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ เวียนศีรษะ มีไข้และรู้สึกอุ่น ๆ หรือพบว่ามีเลือดออกหรือมีก้อนเลือดใต้ผิวหนังบริเวณแผลขาหนีบ ควรแจ้งให้แพทย์พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทราบทันที
 
“แม้ผู้ป่วยส่วนมากของโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่โรคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะเป็นโรคที่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติราว 1.5-3.5 เท่า รวมถึงยังพบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมากกว่าร้อยละ 60 มีโอกาสสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี, ร้อยละ 30 จะมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย, ร้อยละ 20 มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้า, และมีความเสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อมราว 1.4 – 1.6 เท่า นอกจากนี้ จากสถิติพบผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์อัมพาตมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมากถึงร้อยละ 30 โดยผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วยังมีความเสี่ยงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึงร้อยละ 10-40 ต่อปี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศราวุธ
 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ศราวุธ ลิ้มประเสริฐ

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉพาะทางด้านสรีระไฟฟ้าหัวใจ

โรงพยาบาลเวชธานี

Check Also

สจล. เปิดเวทีแข่งขันนวัตกรรมในงาน KMITL Future Innovator 2024ขับเคลื่อนชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ ดร.สุมาลี อุทัยเฉลิม กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเปิดงาน KMITL Future Innovator 2024 ธีม “นวัตกรรมขับเคลื่อนชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน” Innovation Drives Communities and Society Towards Sustainability. ต่อยอดแนวคิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืนจาก KMITL Innovation Expo 2024 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ในการพระราชทานโล่รางวัลชนะเลิศสำหรับกิจกรรมในงานด้วย